หน้าบ้านเว็บ แนะนำบุคลากรภายใน สนง.วัฒนธรรม ภารกิจหลักของ สนง.วัฒนธรรม วิสัยทัศน์ของ สนง.วัฒนธรรม นโยบายของ สนง.วัฒนธรรม โครงการต่าง ๆ ของสนง.วัฒนธรรม กระดานข่าว / webboard เซ็นต์สมุดเยี่ยม / guestbook ผู้ดูแลเว็บสนง.วัฒนธรรมจังหวัดจันทบุรี
<-- น้ำตกลือเลื่อง เมืองผลไม้ พริกไทยพันธุ์ดี อัญมณีมากเหลือ เสื่อจันทบูร สมบรูณ์ธรรมชาติ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช รวมญาติกู้ชาติที่จันทบุรี . . .
     
 
แผนที่ทางวัฒนธรรม
ข้อมูลประจำจังหวัด
ประวัติศาสตร์จันทบุรี
สถานที่สำคัญของจังหวัด
ของดีประจำท้องถิ่น
วิถีชีวิตชาวจันท์
ธรรมชาติวิทยา
บุคคลสำคัญของท้องถิ่น
ภูมิปัญญาชาวบ้าน
 
 
 
การตั้งถิ่นฐาน

เมืองจันบุรีเป็นชุมชนโบราณเก่าแก่มีอายุมากกว่า 1,000 ปี ยังมีร่องรอยอารยธรรมโบราณของชุมชนก่อนประวัติศาสตร์
ที่มีอายุไม่น้อยกว่า 6,000 - 4,000 ปี หลักฐานที่ปรากฏทั้งด้านมานุษยวิทยาศิลปะและประวัติศาสตร์ แสดงให้เห็นถึงการ
ตั้งถิ่นฐาน การเติบโตอย่างกว้างขวางในท้องถิ่น การขยายตัวติดต่อค้าขายกับต่างถิ่น การรับและถ่ายทอดการผสมผสาน
ทางวัฒนธรรม ซึ่งมีการพัฒนาการยาวนานต่อมาจนกระทั่งเป็นเมืองจันทบุรีในปัจจุบัน
 
สมัยก่อนประวัติศาสตร์จันทบุรี

สมัยก่อนประวัติศาสตร์จันทบุรีเป็นการศึกษาเรื่องราวของจันทบุรีในอดีตจากหลักฐานต่าง ๆ ที่พบ โดยการสำรวจและ
ขุดค้นแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์บริเวณพื้นที่จังหวัดจันทบุรี การศึกษาในทางโบราณคดีแยกศึกษาได้
อย่างกว้าง ๆ เป็น 2 ยุคสมัย คือ
 
โบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ( Prehistoric Archaeology ) คือ

ช่วงเวลาก่อนที่จะมีประวัติศาสตร์เป็นลายลักษณ์อักษร จึงครอบคลุมเพียงแต่ช่วงเวลาที่เกิดบรรพบุรุษรุ่นแรกของคน
วัฒนธรรมของคนในโลกมาถึงช่วงที่คนเริ่มจดบันทึกเท่านั้น จุดเริ่มต้นของสมัยก่อนประวัติศาสตร์ซึ่งยึดหลักฐานทาง
วัฒนธรรมกำหนดนั้น ในแต่ละภูมิภาคต่าง ๆ ในโลกจะเกิดขึ้นไม่พร้อมกัน เนื่องจากการอพยพ การตั้งถิ่นฐาน
ตลอดจนวิวัฒนาการของมนุษย์
 
โบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ ( Historic Archaeology )

เป็นช่วงเวลาที่มีประวัติศาตร์เป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว หลักฐานต่าง ๆ เหล่านั้นเรียกหลักฐานทางประวัติศาสตร์
( HistoricalEvidences ) ได้แก่ จารึก ตำนาน พงศาวดาร ปูมโหร ปูมแพทย์ บันทึกการเดินทาง จดหมายเหตุเนื่องจาก
มนุษย์ในดินแดนต่าง ๆ ของโลกเริ่มทำการบันทึกเวลาต่าง ๆ ไม่พร้อมกัน การสิ้นสุดของสมัยก่อนประวัติศาสตร์ หรือ
เริ่มต้นของสมัยประวัติศาสตร์ในดินแดนต่าง ๆ ของโลกจึงปรากฏขึ้นในเวลาที่แตกต่างกัน

ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของสมัยก่อนประวัติศาสตร์และสมัยประวัติศาสตร์ของบางภูมิภาคจะเป็นช่วงที่พบหลักฐานทางภาษา
หรือตัวหนังสือ แต่ไม่สามารถอ่านหรือนำมาเป็นข้อมูลประวัติศาสตร์ได้ จึงเรียกช่วงเวลานี้ว่า สมัยกึ่งก่อนประวัติศาสตร์
( Proto History )



การศึกษาประวัติของจังหวัดจันทบุรีที่ผ่านมาจะศึกษาจากตำนานเรื่องเมืองกาไวและพระนางกาไวเรื่องราวของตำนาน
จะเชื่อมโยงถึงวัดทองทั่ว ตำบลคลองนารายณ์ อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี ซึ่งพบทับหลังลักษณะศิลปะถาลาบริวัตรต่อ
สมโบร์ไพรกุก พ.ศ. 1150 ( สุภัทรดิศ ดิศกุล : 2504 ) และทับหลังแบบศิลปะไพรกเมง พ.ศ. 1180 - 1250 เป็น
เบื้องต้น ต่อจากนั้นจะศึกษาจากหลักฐานในหนังสือฝรั่งเศสชื่อ แคมโบช ซึ่งชาวฝรั่งเศสชื่อ ม. อิติเมอร์ เขียนไว้เมื่อ
พ.ศ. 2444 ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ศึกษาเรื่องราวของเมืองจันทบุรีจากการที่พระเจ้าอู่ทองทรงสร้างกรุงศรีอยุธยาขึ้นใน
ปี พ.ศ.1893 แล้วทรงประกาศว่ากรุงศรีอยุธยามีประเทศราชอยู่ 16 หัวเมือง ในจำนวนนั้นมีชื่อเมืองจันทบุรีช่วงปลาย
สมัยกรุงศรีอยุธยาศึกษาจากเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่พม่ายกทัพมาตีและล้อมกรุงศรีอยุธยาสมเด็จพระเจ้าตากสิน
มหาราชเมื่อครั้งยังเป็นพระยาวชิราปราการ ได้นำกำลังตีฝ่าวงล้อมของพม่ามายึด เมืองจันทบุรีไว้เป็นแหล่งสะสมอาหาร
รวบรวมพลเพื่อกอบกู้กรุงศรีอยุธยาต่อไปในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ศึกษาจากเรื่องราวในสมัยรัชกาลของพระบาทสมเด็จ
พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 ไทยเกิดกรณีพิพาทกับญวน ถึงต้องทำสงครามกันด้วย เรื่องเจ้าอนุวงศ์ พระบาทสมเด็จ
พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเกรงว่าญวนจะยึดเมืองจันทบุรี ซึ่งเป็นเมืองชายฝั่งทะเลทางทิศตะวันออกเป็นที่มั่นเพื่อทำการ
ต่อสู้กับไทย จึงโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างป้อมค่ายและเมืองขึ้นใหม่ที่บ้านเนินวง ซึ่งปัจจุบันคือโบราณสถานค่ายเนินวงรวม
ทั้งโปรดเกล้าฯ ให้สร้างป้อมไพรีพินาศและป้อมพิฆาตปัจจามิตรที่หัวหาดแหลมสิงห์ อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2436 ( ร.ศ.112 ) ไทยกับ
ฝรั่งเศสเกิดกรณีพิพาทด้วยเรื่องดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง จนถึงขั้นปะทะกันด้วยอาวุธ เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 1436
จะเห็นได้ว่าการศึกษาประวัติศาสตร์ของจังหวัดจันทบุรีที่ผ่านมาเป็นการศึกษาทางโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์
 
หลักฐานสมัยก่อนประวัติศาสตร์

การสำรวจและขุดค้นแหล่งโบราณคดีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 จนถึงปัจจุบันพบแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์
บริเวณพื้นที่จังหวัดจันทบุรีจำนวน หลายแห่ง ทำให้การศึกษาประวัติศาสตร์ของจังหวัดจันทบุรี มีรายละเอียดทั้งแนว
กว้างและแนวลึกมากขึ้น เรื่องราวสมัยก่อนประวัติศาสตร์ เริ่มต้นตั้งแต่การพบหลักฐานทางโบราณคดีที่เป็นร่องรอย
ของคนในอดีตที่อาศัยอยู่และดำรงชีวิตในบริเวณพื้นที่ของจันทบุรี หลักฐานที่พบเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ของคนสมัย
ก่อนประวัติศาสตร์ มีอายุประมาณ 10,000 - 6,000 ปีมาแล้ว ต่อเนื่องถึงหินใหม่ตอนปลาย มีอายุประมาณ 4,000 -
2,000 ปีมาแล้ว รวมถึงยุคโลหะที่คนรู้จักการทำสำริดและเหล็ก คือ เมื่อประมาณ 1,500 ปีมาแล้ว เข้าสู่สมัย
พุทธศวรรษที่ 12 ได้พบจารึกเพนียด ( หลักที่ 52 )ถือว่าสมัยก่อนประวัติศาสตร์จันทบุรีได้สิ้นสุดลงและเริ่มเข้า
สู่สมัยประวัติศาสตร์

 
 
การตั้งถิ่นฐานเมืองจันทบุรีในยุคประวัติศาสตร์

ประมาณพุทธศตวรรษที่ 11 - 18 ได้พบหลักฐานชุมชนสมัยประวัติศาสตร์ในจันทบุรี เป็นเมืองโบราณเก่าแก่ซึ่งน่าจะมี
อายุถึงปลายสมัย ฟูนัน ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 เป็นชุมชนที่ได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมศิลปะศาสนาจากขอมโบราณ
ซึ่งปรากฏหลักฐานในหนังสือฝรั่งเศส ชื่อ "แคมโบช" (Le Cambodge) เขียนโดยมองสิเออร์ เอเตียนน์ เอโมนิออร์
(Etienne Aymonier) ปี พ.ศ. 2444 ว่ามีบาทหลวงองค์หนึ่งพบศิลาจารึก ภาษาสันสกฤตที่ตำบลเขาสระบาป ในศิลาจารึก
มีข้อความว่า เมื่อพันปีล่วงมาแล้วมีเมือง ๆ หนึ่งชื่อว่า " ควนคราบุรี " เป็นเมืองที่มีอาณาเขตกว้างขวางตั้งอยู่บริเวณ
บ้านเพนียด บ้านสระบาป ตำบลคลองนารายณ์ อำเภอเมือง ผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้างประมาณ 1 กิโลเมตร
ยาวประมาณ 2 กิโลเมตร ร่องรอยทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีของชุมชนโบราณในจังหวัดจันทบุรีในสมัยยุค
ประวัติศาสตร์นั้นปรากฏชัดเจนราวพุทธศตวรรษที่ 11 แต่อาจจะมีชุมชนตั้งหลักแหล่งอยู่ก่อนแล้ว และขยายตัวขึ้นเป็น
ชุมชนขนาดใหญ่ระดับเมือง หลักฐานที่แสดงให้เห็นว่ามีการตั้งถิ่นฐานนั้นอยู่ณบริเวณวัดทองทั่วและพื้นที่บริเวณใกล
้เคียง ตำบลคลองนารายณ์อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี ภูมิประเทศเป็นที่ราบหน้าเขาสระบาปที่มีลำน้ำคลองนารายณ์
ไหลลงมาจากเขาสระบาปทางตอนเหนือ ผ่านไปออกสู่แม่น้ำจันทบุรีทางตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณที่พบแหล่งโบราณสถาน
มี 4 แห่ง คือ
 
 
          1. เนินโบราณสถานวัดเพนียด (ร้าง)
          2. โบราณสถานเพนียด
          3. เนินโบราณสถานใกล้วัดทองทั่ว
          4. เนินโบราณสถานวัดสมภาร (ร้าง)

          # จากภาพถ่ายทางอากาศพบว่าตัวเมืองมีผังเมืองเกือบเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส แนวถนนสุขุมวิทพาดผ่านในแนวเฉียง
เนินโบราณสถานที่เก่าที่สุดตามหลักฐานที่พบคือ จารึก ทับหลัง เสาประดับ กรอบประตู เคยเป็นที่ตั้งของวัดเพนียด
ที่ปัจจุบันเหลือเพียงเนินขนาดใหญ่ฐานล่างก่อด้วยอิฐ ลึกจากพื้นดินปัจจุบันลงไปประมาณ 4 เมตร เนินดินเป็นรูป
สี่เหลี่ยมผืนผ้า นอกจากนี้ยังปรากฏร่องรอยของแนวศิลาแลงยาวประมาณ 15 เมตร หลักฐานทางโบราณคดีที่พบทำให้
สันนิษฐานได้ว่า บริเวณนี้คงมีชุมชนอยู่อย่างหนาแน่นพอสมควรในราวพุทธศตวรรษที่ 11 และเมื่อมีการขยายชุมชน
ออกไปพร้อมกับสภาพทางการเมืองที่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของขอมโบราณตั้งแต่สมัยแคว้นเจนละเป็นต้นมาปรากฏว่า
สอดคล้องกับหลักฐานทางสถาปัตยกรรม ซึ่งได้แก่ ทับหลังแบบถาลาบริวัตรและทับหลังแบบสมโบร์ไพรกุก ราวพุทธ-
ศตวรรษที่ 12 ทับหลังแบบไพรกเมง ราวพุทธศวรรษที่ 13 เสาประดับกรอบประตูในศิลปะขอมสมัยก่อนเมืองพระนคร
จารึก ๒ หลัก กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 14 ภาชนะดินเผาเป็นกระปุกทรงลูกจัน รูปแบบอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่
15 - 16 ไหเท้าช้าง ซึ่งเป็นที่นิยมมากในพุทธศตวรรษที่ 17 - 18 เป็นต้นมา

          # เนินโบราณสถานบริเวณวัดสมภาร (ร้าง) ได้แสดงให้เห็นถึงการขยายชุมชนออกไป บริเวณนี้สันนิษฐานว่าน่าจะ
เป็นศาสนสถานเช่นกัน เนื่องจากได้พบประติมากรรมขนาดเล็กในอิทธิพลของศิลปะขอมแบบนครวัด ราว พ.ศ. 1650 -
1725 ประติมากรรมที่พบมีทั้งสลักจากศิลาและทำด้วยสำริดนอกจากนี้ยังได้พบหลักฐานทางด้านสถาปัตยกรรมที่หลงเหลือ
อยู่น้อย ได้ถูกเคลื่อนย้ายมาไว้ที่บริเวณวัดสระบาปที่อยู่ใกล้เคียงกัน

          # เนินโบราณสถานบริเวณใกล้กับวัดทองทั่ว ในพื้นที่นี้ใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง ในบริเวณนี้ยังได้
พบเศียรประติมากรรมรูปเคารพขนาดเล็กสลักจากศิลาทรายสีแดง กำหนดได้ว่าเป็น ศิลปะร่วมในศิลปะขอมแบบบายน
ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘

          # หลักฐานที่หลงเหลืออยู่อย่างชัดเจนก็คือโบราณสถานเพนียด ซึ่งใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุในการก่อสร้างทั้งหมดการ
ใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุก่อสร้างนั้น เป็นรูปแบบการก่อสร้างที่สำคัญในศิลปะขอมแบบบายน ซึ่งอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 18
ดังเช่น ปราสาทเมืองสิงห์ จังหวัดกาญจนบุรี เป็นต้น โบราณสถานเพนียดนี้แต่เดิมมี ๒ แห่ง สร้างคู่กันในแนวเหนือใต้
ปัจจุบันเหลืออยู่เพียงแห่งเดียว

          # ต่อมาได้มีการย้ายเมืองมายังบริเวณบ้านหัววัง เรียกกันว่า เมืองพุงทะลาย แต่ทำเลบริเวณนี้ไม่เหมาะสม น้ำท่วม
เป็นประจำ จึงทำให้มีการย้ายเมืองอีกครั้งมายังบริเวณบ้านลุ่ม ริมแม่น้ำจันทบุรี ซึ่งเป็นที่ตั้งของตัวเมืองในปัจจุบัน

          # ดังนั้น จึงอาจสันนิษฐานได้ว่า ชุมชนบริเวณนี้คงจะมีการตั้งถิ่นฐานอย่างค่อนข้างหนาแน่นราวพุทธศตวรรษที่ 11
เป็นต้นมา ในรูปแบบสังคมเกษตรกรรม ได้รับอิทธิพลทางด้านศิลปะและสถาปัตยกรรมร่วมสมัยกับขอมคติความเชื่อทาง
ศาสนาทั้งศาสนาพราหมณ์ ศาสนาพุทธ การนับถือผีของชนพื้นเมืองที่เรียกว่า ชาวชอง มีความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี
ในระดับหนึ่ง ซึ่งอาจได้รับการถ่ายทอดจากชุมชนอื่นร่วมสมัยเดียวกัน เป็นชุมชนเปิดที่มีการคมนาคมสะดวกทั้งทางบก
และทางทะเล สามารถติดต่อกับชุมชนภายนอกได้ รวมทั้งมีแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญคือ เขาสระบาปและแม่น้ำ
จันทบุรี พื้นที่ลุ่มเหมาะสมกับการทำเกษตรกรรมเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่สำคัญในการตั้งถิ่นฐานและการขยายตัวของ
ชุมชนจนกระทั่งเป็นเมือง ซึ่งในตำนานพื้นเมืองเรียกกันว่า เมืองเพนียดหรือ เมืองนางกาไวมีระบบการปกครองที่มี
กษัตริย์เป็นเจ้าเมือง
 
 
 
   
     
รวบรวม เรียบเรียง และพัฒนาโดย : งานยุทธศาสตร์และแผนงาน
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดจันทบุรี ถนนเลียบเนิน ต.วัดใหม่
อ.เมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี 22000 เบอร์โทรศัพท์ 039 - 303298
ติดต่อผู้ดูแลระบบ
chan_culture@hotmail.com
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
ออกแบบโดย    นายธนัฐ  ยังเหลือ....

ปรับปรุงและพัฒนาโดย   นายชวลิต  อยู่รอต....

- - - - - - - - - - - - - - - - -
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -