การท่องเที่ยวของจังหวัดลพบุรี

สถานที่ท่องเที่ยวอำเภอเมือง

พระบรมราชานุสรณ์สมเด็จพระนารายณ์มหาราช

ก่อนเข้าสู่ตัวเมืองโดยทางรถยนต์จากจังหวัดสระบุรี จะผ่านวงเวียนเทพสตรี กลางวงเวียนมีพระบรมราชานุสรณ์สมเด็จพระนารายณ์ เป็นรูปปั้นในท่าประทับยืนผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก พระหัตถ์ขวาทรงพระแสงดาบ ทอดพระบาทซ้ายออกมาข้างหน้าเล็กน้อย ที่ฐานพระบรมราชานุสรณ์ได้จารึกพระเกียรติคุณของพระองค์ไว้

สระแก้ว

เป็นสระน้ำขนาดใหญ่ กลางสระมีสถาปัตยกรรมรูปร่างคล้ายเทียนขนาดยักษ์ตั้งอยู่บนพานขนาดใหญ่ รอบขอบพานประดับเครื่องหมายประจำกระทรวงต่าง ๆ มีสะพานเชื่อมโยงถึงกันโดยรอบทั้ง 4 ทิศ ที่เชิงสะพานมี คชสีห์ ในท่านนั่งหมอบเป็นยามอยู่สะพานละ 2 ตัว สระแก้วตั้งอยู่กลางวงเวียนศรีสุริโยทัย

สวนสัตว์ลพบุรี

สร้างเมื่องปี พ.ศ. 2483 สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ตั้งอยู่หลังโรงภาพยนตร์ทหานบก (ทหารบก) มีบริเวณร่มรื่นกว้างขวาง มีสัตว์ต่าง ๆ มากมายเหมาะแก่การพักผ่อนหย่อนใจ เปิดบริการทุกวันตั้งแต่เวลา 08.00 – 17.30 น. ค่าเข้าชมผู้ใหญ่ 10 บาท เด็ก 5 บาท

หมู่บ้านดินสอพอง

อยู่ที่บ้านหินสองกอง ตำบลทะเลชุบศร อำเภอเมืองลพบุรี ใช้เส้นทางไปทางอำเภอบ้านหมี่ ข้ามสะพาน 6 แล้วเลี้ยวซ้ายเลียบคลองชลประทาน เป็นหมู่บ้านที่มีการทำดินสอพองกันแทบทุกครัวเรือน และบริเวณนั้นจะมีดินสีขาวเรียกกันว่า ดินมาร์ล มีเนื้อเนียนขาว ละเอียดแน่น จึงไม่เหมาะกับการปลูกพืช แต่ด้วยภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่นได้นำมาผลิตเป็นดินสอพอง ซึ่งสามารถนำไปเป็นวัตถุดิบในการทำผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้ เช่น แป้ง เครื่องสำอาง ยาสีฟัน ตกแต่งผิวเครื่องเรือน เป็นต้น

อ่างซับเหล็ก

เป็นอ่างเก็บน้ำธรรมชาติ มีมาแต่โบราณ ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ชาวฝรั่งเศสและอิตาเลี่ยน เป็นผู้วางท่อส่งน้ำจากอ่างซับเหล็ก เข้าไปในเขตพระราชทาน และในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีการสร้างเขื่อนดินกักน้ำเพื่อเก็บไว้ใช้ในการเกษตร

พระที่นั่งไกรสรสีหราช (พระที่นั่งเย็นหรือตำหนักทะเลชุบศร)

ตั้งอยู่ที่ตำบลทะเลชุบศร อำเภอเมืองลพบุรี ห่างจากตัวเมืองประมาณ 4 กม. พระที่นั่งองค์นี้ เป็นที่ประทับในฤดูร้อนของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ณ เมืองลพบุรี องค์พระที่นั่งตั้งอยู่บนเกาะกลางทะเลชุบศรที่มีเขื่อนหินถือปูนล้อมรอบ ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของพระที่นั่งองค์นี้ คือเป็นพระที่นั่งชั้นเดียว ก่ออิฐถือปูน เครื่องบนหลังคาทำด้วยไม้ มีผังเป็นทางจตุรมุข มีมุขเด็จยื่นออกมาทำเป็นสีหบัญชร ซุ้มหน้าต่างและซุ้มประตูทำเป็นเรือนแก้ว ซึ่งเป็นแบบที่นิยมกันในสมัยนั้น สภาพปัจจุบันยังคงเหลือกำแพงและผนังให้เห็นอยู่ ส่วนทะเลชุบศรนั้น ในสมัยโบราณเป็นที่ลุ่มน้ำขังตลอด สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ทำทำนบใหญ่กั้นน้ำไว้ เพื่อชักน้ำจากทะเลชุบศรผ่านท่อไปยังเมืองลพบุรี ปัจจุบันยังเห็นเป็นสันดินปรากฎอยู่ พระที่นั่งเย็นมีความสำคัญอย่างมากในฐานะที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ใช้เป็นที่สำรวจจันทรุปราคา เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2228 และทอดพระเนตรสุริยุปราคา เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2231 ร่วมกับคณะทูตและบาทหลวงจากประเทศฝรั่งเศส ที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ส่งมาเจริญสัมพันธไมตรี

ศาลพระกาฬ

ตั้งอยู่ริมทางรถไฟด้านทิศตะวันออก เดิมเรียกว่า “ศาลสูง” เป็นเทวสถานเก่าของขอม สร้างด้วยศิลาแลงเรียงซ้อนกันเป็นฐานสูง มีทับหลังสลักเป็นรูปพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ ทำด้วยศิลาทราย 1 แผ่น อายุราวพุทธศตวรรษที่ 16 วางติดฝาผนังวิหารหลังเล็กชั้นบน และยังพบหลักศิลาจารึกแปดเหลี่ยม จารึกอักษรมอญโบราณด้วย ส่วนด้านหน้าเป็นศาลาที่สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2494 ภายในวิหารประดิษฐานพระรูปประติมากรรมลอยตัว 4 กรไม่มีเศียร อาจจะเป็นเทวรูปพระนารายณ์ ศิลปะแบบลพบุรี หรือรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ภายหลังมีผู้นำเศียรพระพุทธรูปศิลาทรายสมัยกรุงศรีอยุธยาสวมต่อไว้ ให้เป็นที่เคารพสักการะของประชาชนทั่วไป นอกจากนี้แล้ว ที่ศาลพระกาฬยังมีจุดที่น่าสนใจสำหรับนักท่องเที่ยวอีกอย่างหนึ่งคือ ฝูงลิงซึ่งมีอยู่มากกว่า 300 ตัว กล่าวกันว่า เดิมบริเวณโดยรอบศาลพระกาฬมีต้นไม้ใหญ่มีลิงอาศัยอยู่ เมื่อมีคนนำอาหารและผลไม้มาแก้บนที่ศาลพระกาฬ ลิงป่าเหล่านั้นได้เข้ามากินอาหารเลยเชื่องและคุ้นเคยกับคนมากขึ้น

พระปรางค์สามยอด

ตั้งอยู่บนเนินดินด้านตะวันตกของทางรถไฟใกล้กับศาลพระกาฬ ลักษณะเป็นปรางค์เรียงต่อกัน 3 องค์ มีฉนวนทางเดินเชื่อมต่อกัน ปรางค์องค์กลางสูงประมาณ 21.5 เมตร เป็นศิลปะเขมรแบบบายน ซึ่งมีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ 18 ก่อด้วยศิลาแลงและตกแต่งลวดลายปูนปั้นที่สวยงาม ปรางค์สามยอดนี้แต่เดิมคงเป็นเทวสถานของขอมโดยพุทธศาสนาลัทธิมหายาน ต่อมาได้ดัดแปลงเป็นเทวสถานโดยมีฐานศิวลึงค์ปรากฎอยู่ในองค์ปรางค์ทั้ง 3 องค์ จนกระทั่งถึงรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ฯ จึงได้บูรณปฏิสังขรณ์พระปรางค์สามยอดเป็นวัดในพระพุทธศาสนา แล้วสร้างพระวิหารก่อด้วยอิฐ ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบอยุธยาผสมแบบ ยุโรป ในส่วนของประตูและหน้าต่างภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปหินทรายปางมารวิชัย ศิลปะอยุธยาตอนต้น ปัจจุบันยังคงประดิษฐานอยู่กลางแจ้ง อัตราค่าเข้าชมชาวไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 30 บาท

พระนารายณ์ราชนิเวศน์

เป็นพระราชวังซึ่งสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้สร้างขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2209 เพื่อใช้เป็นที่ประทับ ณ เมืองลพบุรี แบ่งเป็นเขตพระราชฐานชั้นกลาง เขตพระราชฐานชั้นกลางและเขตพระราชฐานชั้นใน กำแพงพระราชวังก่อด้วยดิฐถือปูนมีใบเสมาเรียงรายบนสันกำแพง มีซุ้มประตูทั้งหมด 11 ซุ้ม ช่องประตูทางเข้าโค้งแหลม หลังคาประตูเป็นทรงจตุรมุขตรงจั่วซุ้มประตูตกแต่งลายกระจังปูนปั้นที่วิวัฒนาการมาจากดอกบัว ที่ซุ้มประตูและกำแพงพระราชฐานชั้นกลางและชั้นในมีช่องเล็ก ๆ เจาะเป็นรูปโค้งแหลมคล้ายบัวเรียงเป็นแถวสำหรับวางตะเกียง ประมาณ 2,000 ช่อง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4)ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมแซมขึ้นใหม่เมื่อ พ.ศ. 2399 เพื่อให้เป็น ราชธานีชั้นใน และพระราชทานชื่อว่า “พระนารายณ์ราชนิเวศน์”

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์

ตั้งอยู่ในพระนารายณ์ราชนิเวศน์ นับเป็นพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ แห่งที่ 3 ของประเทศไทย ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2466 แบ่งอาคารจัดแสดงศิลปะโบราณวัตถุเป็น 4 อาคาร คือ

1. พระที่นั่งพิมานมงกุฎ จัดแสดงศิลปะโบราณวัตถุมีอายุเก่าแก่ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ อายุประมาณ 2,700 ปี เช่น ขวานหิน ขวานสัมฤทธิ์ ภาชนะดินเผา ลูกปัด พระพุทธรูป ลวดลายปูนปั้น เทวรูป และไม้แกะสลัก โบราณวัตถุเหล่านี้อายุแตกต่างกันตั้งแต่สมัยทวาราวดี ศรีวิชัย ลพบุรี กรุงสุโขทัย เชียงแสน (ล้านนา) กรุงศรีอยุธยา และกรุงรัตนโกสินทร์ และต่อมามีการจัดแสดงพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ที่เพิ่งขุดค้นพบ ณ สถาบันราชภัฏเทพสตรีเมื่อปี พ.ศ. 2540

2. พระที่นั่งจันทรพิศาล อาคารด้านหน้าจัดแสดงพระราชประวัติของสมเด็จพระนารายณ์ และโบราณวัตถุที่ทำด้วยหินขนาดใหญ่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพระพุทธรูป และห้องด้านหลังจัดแสดงงานประณีตศิลป์สมัยกรุงศรีอยุธยาและกรุงรัตนโกสินทร์

3. อาคารชีวิตไทยภาคกลาง เดิมเป็นห้องเครื่องในรัชสมัยรัชกาลที่ 4 จัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้ของชาวนา ได้แก่ คราด ไถ เกวียน สีฝัด และเครื่องจับปลา เป็นต้น

4. พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่ จัดแสดงหนังใหญ่เรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งได้มาจากวัดตะเคียน ตำบลท้ายตลาด อำเภอเมืองลพบุรี

        พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ เปิดทำการระหว่างเวลา 09.00 – 16.00 น. เว้นวันจันทร์ และอังคาร อัตราค่าเข้าชม ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 30 บาท ยกเว้นนักเรียนนักศึกษาในเครื่องแบบและพระภิกษุไม่ต้องเสียค่าเข้าชม ส่วนพระนารายณ์ราชนิเวศน์ เปิดให้ชมทุกวัน ระหว่างเวลา 07.00 – 17.00 น.

วัดยาง ณ รังสี

ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลตะลุง อำเภอเมืองลพบุรี ริมฝั่งแม่น้ำลพบุรีด้านทิศตะวันออก ด้านหน้าติดทางหลวงสายลพบุรี – บางปะหัน อยู่ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศใต้ ประมาณ 9 กม. เดิมเรียกว่า วัดพญายาง เนื่องจากภายในบริเวณวัดมีต้นยางใหญ่ตะหง่านเป็นสัญลักษณ์ท่ามกลางดงต้นยาง สันนิษฐานกันว่าเดิมเป็นวัดโบราณอยู่กลางป่า น่าจะมีอายุตั้งแต่สมัยละโว้ เพราะมีประติมากรรมหินทรายประดิษฐานอยู่ภายในพระอุโบสถของวัด คือ พระพุทธรูปปางนาคปรก 2 องค์ พระพุทธรูปปางมารวิชัย 1 องค์ และพระพุทธรูปปางสมาธิ 1 องค์ เป็นเนื้อทรายและหินหนุมาน(หินสีเขียว) รูปทรงเป็นแบบสมัยขอมเรืองอำนาจ ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่และเปลี่ยนชื่อใหม่ถึง 2 ครั้ง เป็นวัดยางศรีสุธรรมาราม แล้วเปลี่ยนเป็นวัดยาง ณ รังสี จนถึงปัจจุบันนี้

พิพิธภัณฑ์เรือพื้นบ้าน

ตั้งอยู่ที่ศาลาการเปรียญหลังเก่า ภายในวัดยาง ณ รังสี สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2470 ตั้งอยู่ริมแม่น้ำลพบุรี ศาลาการเปรียญหลังนี้ได้รับรางวัลอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่นในปี พ.ศ. 2536 ลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมแบบศาลาวัดในชนบทของภาคกลางในประเทศไทย ทั้งนี้ผู้สร้างจำลองแบบมาจากภาพศาลาที่อยู่ด้านหลังธนบัตรใบละ 1 บาท ที่พิมพ์ในสมัยรัชกาลที่ 8 ซึ่งนับวันจะหาดูได้ยาก ต่อมามีการบูรณะซ่อมแซมแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2531 โครงการพิพิธภัณฑ์เรือพื้นบ้านจึงได้เกิดขึ้น และนับเป็นพิพิธภัณฑ์เรือพื้นบ้านแห่งแรกของประเทศไทย

สถานที่ท่องเที่ยวอำเภอบ้านหมี่

อำเภอบ้านหมี่ เป็นอำเภอที่มีชื่อเสียงในการทอผ้ามัดหมี่ ราษฎรส่วนใหญ่ของอำเภอบ้านหมี่ เป็นชาวไทยพวนที่อพยพมาจากหัวพันทั้งห้าทั้งหก ในประเทศลาวเมื่อประมาณ 135 ปีมาแล้ว และได้นำเอาชื่อบ้านเดิม คือ “บ้านหมี่” มาใช้เป็นชื่อบ้านที่อพยพมาตั้งหลักแหล่งใหม่นี้ด้วย

วัดธรรมิการาม

หรือวัดค้างคาว เป็นวัดเก่าแก่ตั้งอยู่ริมน้ำบางขาม ฝั่งตะวันตกของอำเภอบ้านหมี่ วัดนี้เดิมมีค้างคาวอาศัยอยู่มาก จึงเรียกว่า วัดค้างคาว สิ่งที่น่าชมของวัดนี้ คือภาพเขียนที่ผนังโบสถ์เรื่องพุทธประวัติทั้ง 4 ด้าน มีลักษณะการเขียนภาพแบบตะวันตกเข้ามาปะปนอยู่บ้าง เช่นการแรเงาต้นไม้ เป็นภาพเขียนในสมัยรัชกาลที่ 4 ฝีมือช่างพื้นบ้านที่งดงามมาก

วัดเขาวงกต

ตั้งอยู่ที่เชิงเขาสนามแจง ห่างจากตัวอำเภอบ้านหมี่ ประมาณ 4 กม. มีเนื้อที่ 30 ไร่ อยู่ในวงล้อมของภูเขา 3 ด้าน สถานที่น่าชมของวัดนี้ก็คือ ถ้ำค้างคาว ซึ่งอยู่บนไหล่เขาด้านเหนือพระอุโบสถ เป็นถ้ำค้างคาวที่ใหญ่ที่สุดในลพบุรี ภายในถ้ำมีค้างคาวจำนวนนับล้าน ๆ ตัว แต่ละปีมูลค้างคาวจะทำรายได้ให้วัดเป็นจำนวนมาก ช่วงเวลา 18.00 น. ค้างคาวจะพากันกรูออกจากปากถ้ำอย่างมืดฟ้ามัวดิน เพื่อออกหากิน แลเห็นเป็นสายยาวคล้ายกับควันที่พุ่งออกจากท่อปล่องโรงสีไฟ เป็นเวลานานประมาณ 1 – 2 ชั่วโมงจึงจะหมด

วัดกัทลีพนาราม (วัดบ้านกล้วย)

ตั้งอยู่ห่างจากตัวอำเภอบ้านหมี่ ไปทางเส้นทางอำเภอโคกสำโรงประมาณ 2 กม. เดิมชื่อวัดบ้านกล้วย ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นวัดกัทลีพนาราม เป็นวัดสำคัญของชาวชุมชนไทยพวน สิ่งที่น่าสนใจของวัดนี้คือ พระอุโบสถขนาดใหญ่แบบจตุรมุขที่สวยงาม มีวิหารเก่าแก่หลังเล็กและเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองรูปทรงงดงามมาก ศาลาการเปรียญมีลวดลายฉลุไม้ตกแต่งสวยงาม ภายในมีธรรมาสน์เก่าประดับเครื่องพุทธบูชาแบบชาวไทยพวนคือ “ธงแว่น” การจัดงานชุมนุมหรืองานประเพณีของชาวไทยพวนจะจัดที่นี้

วัดท้องคุ้ง

อยู่ในตำบลบางพึ่ง อำเภอบ้านหมี่ ภายในวัดมีสิ่งที่น่าสนใจคือ อุโบสถบนเรือสำเภากลางน้ำ นอกจากนี้ยังมีศาลาธรรมสังเวช สร้างประยุกต์เป็นรูปรถโดยสารประจำทาง

วัดคุ้งท่าเลา

อยู่ริมถนนสาย บางงา – บ้านหมี่ ตำบลบางพึ่ง จุดที่น่าสนใจอยู่ที่ ประตูทางเข้าวัดเป็นรูปหนุมานกำลังอ้าปาก ประดับกระจกสีสวยสะดุดตา เป็นความคิดริเริ่มของเจ้าอาวาสวัดที่นำตำนานเมืองลพบุรีที่เกี่ยวข้องกับเรื่องรามเกียรติ์มาประยุกต์ในการสร้าง

วัดหนองเต่า (วัดพานิชธรรมิการาม)

อยู่ที่ตำบลหนองเต่า มีสิ่งที่น่าสนใจคือ อุโบสถบนหลังเต่าซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของตำบลหนองเต่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงยกช่อฟ้าอุโบสถ เมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2517

สถานที่ท่องเที่ยวอำเภอท่าวุ้ง

วัดไลย์

อยู่ริมน้ำบางขาม ตำบลเขาสมอคอน อำเภอท่าวุ้ง ไปตามเส้นทางสายลพบุรี – สิงห์บุรี ประมาณกิโลเมตรที่ 18 มีถนนแยกขวาเข้าวัด ระยะทางประมาณ 6 กม. ที่วัดไลย์นี้มีรูปพระศรีอาริย์เป็นของสำคัญอีกอย่างหนึ่งซึ่งผู้คนนับถือกันมาแต่โบราณ ไฟป่าไหม้วิหารรูปพระศรีอาริย์ชำรุดไป พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้อัญเชิญลงมาปฏิสังขรณ์ในกรุงเทพ ฯ แล้วคืนกลับไปประดิษฐานตามเดิม ถึงช่วงเทศกาลราษฏรยังอัญเชิญออกแห่เป็นประเพณีต่อเนื่องมาทุกปีมิได้ขาด ปัจจุบันทางวัดได้ก่อสร้างวิหารสำหรับประดิษฐานพระศรีอาริย์ขึ้นใหม่ ด้านหน้าเป็นรูปมณฑลจัตุรมุข แลดูสง่างามมาก นอกจากนี้แล้วยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกหลายอย่าง เช่นศาลาริมน้ำซึ่งรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสวัดไลย์ทางน้ำ วิหารเก้าห้องเป็นสถาปัตยกรรมแบบอยุธยาตอนต้น คือมีลักษณะเจาะช่องผนังแทนหน้าต่าง ภายในมีพระประธานขนาดใหญ่ปางมารวิชัย ลงรักปิดทอง มีซุ้มเรือนแก้วแบบพระพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก ด้านหน้าและด้านหลังของพระวิหารมีภาพปูนปั้นเรื่องทศชาติ และเรื่องปฐมสมโพธิ ซึ่งนับว่าเป็นภาพประติมากรรมฝาผนังขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญชิ้นหนึ่งของชาติ นอกจากนี้ยังมีพระอุโบสถ และวิหารรูปมณฑปยอดปรางค์อยู่ใกล้ ๆ กับพระวิหาร และพิพิธภัณฑ์ประจำวัดซึ่งมีของเก่าแก่มากมายให้ชม เช่นพระพุทธรูป เครื่องลายคราม เครื่องมือเครื่องใช้สมัยโบราณ และอื่น ๆ อีกมากมาย

เขาสมอคอน

อยู่ในเขต ตำบลเขาสมอคอน อำเภอท่าวุ้งไปตามเส้นทางสายลพบุรี – สิงห์บุรี กิโลเมตรที่ 18 เลี้ยวขวาเข้าไปอีก 12 กิโลเมตร เป็นเทือกเขาที่มีความสำคัญด้านประวัติศาสตร์ มีตำนานเก่าแก่เกี่ยวกับเขา สมอคอนอยู่หลายเรื่องที่น่าสนใจ จากหนังสืออักขรานุกรมภูมิศาสตร์ฉบับราชบัณฑิตยสถานกล่าวไว้ว่า “เขาสมอคอนนี้เป็นที่อยู่ของ สุกกทันตฤาษี อาจารย์ของพระเจ้ารามคำแหงมหาราชและพระยางำเมือง กษัตริย์เมืองพะเยา ซึ่งน่าจะเป็นราชวงศ์หนองแส โยนก เชียงแสน ทั้งสองพระองค์ เพราะเมื่อทรงพระเยาว์ ได้เสด็จมาศึกษาศิลปวิทยาที่เขาสมอคอนนี้ ซึ่งสมัยนั้นกษัตริย์เมืองลพบุรีก็เป็นราชวงศ์เดียวกัน” มีวัดที่สำคัญบนเทือกเขานี้ 4 วัดด้วยกัน คือวัดบันไดสามแสน วัดถ้ำตะโก วัดถ้ำช้างเผือก และวัดเขาสมอคอน

สถานที่ท่องเที่ยวอำเภอชัยบาดาล

สวนรุกขชาติน้ำตกวังก้านเหลือง

ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 ตำบลท่าดินดำ อำเภอชัยบาดาล การเดินทางจากตัวเมืองลพบุรีโดยใช้เส้นทางสายลพบุรี – โคกสำโรง จากนั้นใช้เส้นทางสายโคกสำโรง – ชัยบาดาล (ทางหลวงหมายเลข 205) ถึงบริเวณที่บรรจบกับทางหลวงหมายเลข 21 แล้วต่อเข้าทางหลวงหมายเลข 2089 ไปอำเภอท่าหลวง ประมาณ 12 กิโลเมตร และแยกซ้ายมือเข้าตัวน้ำตกอีกประมาณ 7 กิโลเมตร น้ำตกวังก้านเหลืองนี้มีน้ำไหลตลอดทั้งปีเนื่องจากมีต้นน้ำเกิดจากตาน้ำขนาดใหญ่ใต้ดิน ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกห่างจากบริเวณน้ำตกประมาณ 1.5 กิโลเมตร

เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาสมโภชน์

ตั้งอยู่ในท้องที่บางส่วนของ 4 ตำบล คือ ตำบลซับตะเคียน ตำบลหนองยายโต๊ะ ตำบลบัวชุม และตำบลนาโสม อำเภอชัยบาดาล มีเนื้อที่ประมาณ 13,504 ตารางกิโลเมตร หรือ 8,440 ไร่ ได้รับการประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาสมโภชน์ เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2538 เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาสมโภชน์ เป็นเทือกเขาหินปูนที่มีลักษณะสูงชันยาว ทอดตัวไปตามแนวทิศตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งมีถ้ำ-หน้าผา เป็นจำนวนมาก และมีที่ราบในหุบเขา จำนวน 2 แห่ง ที่ราบบนเขา 1 แห่ง มีแหล่งน้ำซับกระจาย จึงเป็นป่าซับน้ำ ป่าต้นน้ำที่มีความสำคัญมาก นอกจากนี้ภายในบริเวณเขต ฯ มีการค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะที่วัดถ้ำพรหมโลก ค้นพบขวานหินขัด ยุคสมัยหินตอนปลาย อายุราว 3,000 ปี ใบหอกสำริด ภาชนะดินเผา ในยุคโลหะ อายุประมาณ 2,500 ปี พระพุทธรูปสลักด้วยไม้ สมัยอยุธยาตอนปลาย หรือสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น อายุราวพุทธศตวรรษที่ 23 – 24 เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาสมโภชน์มีสภาพป่าไม้และสัตว์ป่าที่สมบูรณ์ มีการจัดเส้นทางศึกษาธรรมชาติ อาทิพรรณพืชชนิดต่าง ๆ นิเวศวิทยา ตลอดจนซากฟอสซิล อายุประมาณ 280 ล้านปี ซึ่งเป็นหลักฐานทางธรณีวิทยาสำคัญที่แสดงว่าบริเวณเทือกเขานี้เคยเป็นไหล่ทวีป อยู่ใต้น้ำมาก่อน นอกจากนี้ยังมีสถานที่สำหรับปฏิบัติธรรมที่เขาสมโภชน์ วัดถ้ำพรหมโลก และบริเวณใกล้วัดถ้ำพรหมโลกมีลานหินผุดที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ การเดินทาง จากกรุงเทพมหานครใช้เส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 21 จนถึงทางแยกขวาเข้าอำเภอชัยบาดาลใช้ทางหลวงหมายเลข 205 จากอำเภอชัยบาดาลไปทางอำเภอลำสนธิ ประมาณ 20 กิโลเมตร ถึงเขาตำบลด้านซ้ายมือ และเลี้ยวขวาไปตามเส้นทางเข้าสู่วัดถ้ำพรหมโลกระยะทาง 7 กิโลเมตร ถึงที่ทำการเขตฯ

สถานที่ท่องเที่ยวอำเภอพัฒนานิคม

ทุ่งทานตะวัน

จังหวัดลพบุรีมีการปลูกทานตะวันมากที่สุดในประเทศไทย คือประมาณ 200,000 – 300,000 ไร่ ดอกทานตะวันจะบานสะพรั่งในช่วงเดือนพฤศจิกายน – มกราคม ทานตะวันเป็นพืชที่ทนแล้ง เกษตรกรจึงนิยมปลูกทดแทนข้าวโพด เมล็ดทานตะวันมีสารคุณค่า จึงนิยมใช้สกัดทำน้ำมันปรุงอาหารหรืออบแห้งเพื่อรับประทานหรือใช้เป็นส่วนผสมของเครื่องสำอาง และยังสามารถเลี้ยงผึ้งเป็นอาชีพเสริมอีกด้วย จึงทำให้ได้ผลผลิต คือน้ำผึ้งจากดอกทานตะวันอีกทางหนึ่ง แหล่งปลูกทานตะวัน กระจายอยู่ทั่วไปในเขตอำเภอเมือง อำเภอพัฒนานิคม อำเภอชัยบาดาล พื้นที่ปลูกเป็นจำนวนมากได้แก่บริเวณเขาจีนแล ใกล้วัดเวฬุวัน การเดินทางจากลพบุรี ใช้เส้นทางพหลโยธิน ถึง กิโลเมตรที่ 4 เลี้ยวซ้ายไปทางนิคมสร้างตนเอง (ทางไปโคกตูม) จนถึงทางเข้าวัดเวฬุวัน นอกจากนี้ยังมีกระจัดกระจายไปตามเส้นทางที่จะไปอำเภอพัฒนานิคม บริเวณช่อง สาริกา (ทางเข้าวัดมณีศรีโสภณ) ริมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 21

เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์

เป็นโครงการพัฒนาลุ่มน้ำป่าสักอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นเขื่อนดินแกนดินเหนียวกักเก็บน้ำเพื่อการชลประทาน ความยาวตัวเขื่อน 4,860 เมตร สามารถเก็บกักน้ำได้ 785 ล้านลูกบาศ์กเมตร ณ ระดับความสูง 42 เมตร จากระดับน้ำทะเลมีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ในอำเภอพัฒนานิคม อำเภอท่าหลวง อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี และอำเภอวังม่วง จังหวัดสระบุรี เริ่มกักเก็บน้ำได้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ.2541 จุดที่น่าสนใจสำหรับนักท่องเที่ยว ได้แก่ จุดชมวิวบริเวณสันเขื่อน พิพิธภัณฑ์ลุ่มแม่น้ำป่าสัก ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์เฉาพะเรื่อง จัดแสดงเนื้อความรู้ด้านธรรมชาติ และวัฒนธรรมในบริเวณพื้นที่อื้นที่อ่างเก็บน้ำ นอกจากนี้ยังมีเส้นทางรถไฟตัดผ่านบริเวณอ่างกักเก็บน้ำเหนือเขื่อนหลายช่วง ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถนั่งรถไฟชมทัศนียภาพอันสวยงามได้ด้วย การเดินทางจากลพบุรี ใช้เส้นทางลพบุรี – โคกตูม – พัฒนานิคม (ทางหลวงหมายเลข 3017 ) ระยะทาง 48 กิโลเมตร

สวนเหรียญทอง

เป็นสวนเกษตรเพื่อการท่องเที่ยวมีชื่อเสียงด้านการฝากท้องกิ่งมะม่วง เพื่อให้ได้ผลผลิตมากเป็นพิเศษ (กิ่งละประมาณ 20 ผล) กิจกรรมสำหรับนักท่องเที่ยวมี การชมวิธีการตอนกิ่ง ทาบกิ่ง และฝากท้องมะม่วงเป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการจำหน่ายผลผลิตและผลิตภัณฑ์แปรรูปเกษตรจากกลุ่มแม่บ้านต่าง ๆ อีกด้วย การเดินทางจากลพบุรี ใช้เส้นทางลพบุรี - โคกตูม – พัฒนานิคม ( ทางหลวงหมายเลข 3017 ) อยู่ก่อนถึงเขื่อน ป่าสักประมาณ 3 กิโลเมตร

สถานที่ท่องเที่ยวอำเภอลำสนธิ

ปรางค์นางผมหอม

อยู่ห่างจากตลาดหนองรี ประมาณ 2 กิโลเมตร ในเขตบ้านโคกคลี ตำบลหนองรี อำเภอลำสนธิ ลักษณะเป็นปรางค์เดี่ยวก่ออิฐ ฐานเป็นหินทราย สภาพปัจจุบันยอดหักลงมาหมดแล้ว มีประตูเข้าภายในปรางค์ได้ ภายในปรางค์เป็นห้องโถง ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพ เป็นปรางค์ที่มีขนาดเล็กคล้ายปรางค์กู่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งสร้างขึ้นตามรายทางของเส้นทางติดต่อระหว่างเมืองสำคัญ และที่ตั้งของปรางค์องค์นี้ก็อยู่ในเส้นทางติดต่อระหว่างที่ราบภาคกลางกับที่ราบสูงโคราช มีแม่น้ำไหลมาบรรจบกัน 2 สาย คือ ลำสนธิกับลำพญากลาง สันนิษฐานว่า สถานที่แห่งนี้แต่เดิมคงเป็นเมืองโบราณ และจากการขุดแต่งโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ.2530 ได้พบหลักฐานเพิ่มเติม คือพบชิ้นส่วนเครื่องประดับตกแต่งองค์ปรางค์ทำด้วยหินทรายรูปสตรีนุ่งผ้าตามศิลปะเขมรแบบบายน จึงสันนิษฐานว่าปรางค์องค์นี้มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 15 – 17

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าซับลังกา

ตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลลำสนธิ ตำบลกุดตาเพชร อำเภอลำสนธิ มีเนื้อที่ประมาณ 155 ตารางกิโลเมตร หรือ 96,875 ไร่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าซับลังกา เป็นที่ราบอยู่ในหุบเขาล้อมด้วยเทือกเขารูปก้ามปู ด้านทิศตะวันออก ถูกกั้นด้วยเทือกเขาพังเหย ทิศตะวันตกเป็นเขารวก สูงจากระดับน้ำทะเล 140 – 846 เมตร ความสำคัญของพื้นที่คือ ป่าซับลังกาเป็นป่าที่มีสภาพสมบูรณ์ เป็นป่าต้นน้ำของแม่น้ำลำสนธิ และเป็นแหล่งอาหารของสัตว์ป่า ปัจจุบันยังมีเลียงผาซึ่งเป็นสัตว์ป่าสงวนอาศัยอยู่ การเดินทางใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 205 จากอำเภอชัยบาดาล(ลำนารายณ์) ถึงอำเภอ ลำสนธิ ระยะทางประมาณ 31 กิโลเมตร จะมีทางแยกเข้าตำบลกุดตาเพชร ระยะทาง 37 กิโลเมตร

สถานที่ท่องเที่ยวอำเภอท่าหลวง

น้ำตกไร่พรพรรณ

อยู่ในเขตตำบลท่าหลวง อำเภอท่าหลวง ห่างจากน้ำตกวังก้านเหลืองประมาณ 2 กิโลเมตร เป็น น้ำตกจำลอง มีสไลเดอร์ คล้ายกับที่สวนสยาม ในบริเวณตัวน้ำตกจะมีที่นั่งพักผ่อนหย่อนใจ มีบริการอาหารและเครื่องดื่มตลอดจนที่พักสำหรับนักท่องเที่ยวด้วย