ประเพณีพื้นบ้านของจังหวัดลพบุรี

ประเพณี คือสิ่งที่ปฏิบัติเชื่อถือกันมานานจนกลายเป็นแยบอย่างความคิดหรือการกระทำที่ได้สืบต่อกันมา จังหวัดลพบุรีเป็นแหล่งชุมชนของชนหลายกลุ่มหลายพวก มีทั้งไทย จีน มอญ ไทยพวน อีสาน ฯลฯ แต่ทุกกลุ่มก็อยู่รวมกันได้อย่างสบงสุข จึงก่อให้เกิดขนบธรรมเนียมประเพณีเฉพาะกลุ่มเฉพาะท้องถิ่นที่แตกต่างกันออกไป ที่นี้จะกล่าวเฉพาะบางประเพณีที่มีลักษณะเด่นเท่านั้น

ประเพณีกำฟ้า
เป็นประเพณีที่สำคัญของชาวไทยพวน คำว่า”กำ” ในภาษาพวนหมายถึง การนับถือสักการะ คำว่า “ฟ้า” หมายถึง เจ้าฟ้า เจ้าแผ่นดิน ผู้อยู่สูงเทียมฟ้า หรือเทวดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มองไม่เห็น คำว่า “กำฟ้า” จึงหมายถึง การนับถือการบูชาฟ้า
มีตำนานเล่าต่อ ๆ กันมาว่าสาเหตุที่เกิดวันกำฟ้า เนื่องจากสมัยหนึ่งเมืองพวนขึ้นอยู่กับนครเวียงจันทน์ และมีเจ้าชมพูเป็นกษัตริย์เมืองพวน นำทัพร่วมกับนครเวียงจันทน์ไปตีเมืองหลวงพระบาง แต่เจ้าชมพูได้ประกาศเอกราชไม่เป็นเมืองขึ้นของเวียงจันทน์ ทำให้เจ้านนท์แห่งนครเวียงจันทน์โกรธมาก ยกทัพมาปราบเมืองพวนและจับเจ้าชมพูได้ จึงสั่งให้ประการชีวิต ขณะที่ทำพิธีประหาร ฟ้าผ่าถูกด้ามหอกที่จะใช้ประหาร ทหารเวียงจันทน์ไปกราบทูลเจ้านนท์ให้ทราบเหตุอัศจรรย์นั้น เจ้านนท์จึงรับสั่งให้นำเจ้าชมพูกลับไปครองเมืองพวนตามเดิม ตั้งแต่เหตุการณ์ครั้งนั้น จึงทำให้เกิดประเพณีกำฟ้าสืบมาจนถึงปัจจุบัน ประกอบกับชาวไทยพวนมีอาชีพทำนาอยู่แล้ว จึงมีวิถีชีวิตผูกพันกับฟ้า ไม่กล้าทำให้ฟ้าพิโรธ เพราะกลัวฟ้าฝนฟ้าจะไม่ตกต้องตามฤดูกาล การจัดงานบุญกำฟ้านี้ ก็เพื่อให้ผีฟ้าเทวดามีความพึงพอใจ อีกทั้งยังเป็นการแสดงความขอบคุณผีฟ้าที่ประทานฝนให้ตกต้องตามฤดูกาลอีกด้วย
ประเพณีกำฟ้าของชาวไทยพวนในจังหวัดลพบุรีนั้น ตามประเพณีจะจัดตั้งแต่วันขึ้น 2 ค่ำ เดือน 3 ซึ่งเป็นวันเตรียมงานหรือวันสุกดิบ คนในหมู่บ้านหรือสมาชิกในครัวเรือนจะช่วยกันทำข้าวปุ้น (ขนมจีน) ข้าวหลาม ข้าวจี่ (ข้าวเหนียวปั้นยัดไส้หวาน ไส้เค็ม ชุบไข่ และปิ้งไฟจนแห้งเกรียม)เพื่อนำสิ่งของดังกล่าวไปเซ่นไหว้ผีฟ้า นอกจากนี้ยังมีการสร้างปะรำสำหรับทำพิธีที่วัด ตอนเย็นจะนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ ผู้อาวุโสของหมู่บ้านจะประกอบพิธีเบิกบายศรี อัญเชิญเทพยดาผีฟ้ามารับเครื่องสังเวยและ
มีการรำขอพร กล่าวคำขอให้ผีฟ้า ผีบ้าน ผีเรือน มาปกปักรักษาคนในครอบครัวให้อยู่ดีกินดี มีข้าวปลาอาหารบริบูรณ์ สิ่งสำคัญที่สุดของงานบุญนี้คือทุกคนต้องหยุดทำงานทั้งหลายทั้งปวง เพราะมีความเชื่อว่าหากผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามจะถูกฟ้าผ่าตายได้

สำหรับในวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 จะเป็นวันกำฟ้า ซึ่งเป็นวันสำคัญที่สุด ชาวบ้านจะตื่นแต่เช้าตรู่เพื่อเตรียมอาหารคาวหวานไปถวายพระและร่วมกันใส่บาตรข้าวหลามข้าวจี่ ตอนบ่ายจนถึงกลางคืนจะมีการละเล่นพื้นบ้าน เช่น เตะหม่าเบี้ย ต่อไก่ ไม้อื่อคร่อมเส้า ช่วงชัย มอญซ่อนผ้า และในช่วงเวลากำฟ้านั้น คนเฒ่าคนแก่ในครอบครัวจะคอยฟังเสียงฟ้าร้อง ซึ่งเป็นการพยากรณ์เกี่ยวกับความเป็นอยู่และการประกอบอาชีพของคนในหมู่บ้าน โดยมีคำทำนายดังนี้
เสียงฟ้าร้อง หมายถึง ฟ้าเปิดประตูน้ำ
ฟ้าร้องทางทิศเหนือหรือทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ทำนายว่าฝนจะตกดี ทำนาจะได้ข้าวดี
ฟ้าร้องทางทิศใต้ ทำนายว่า ฝนจะแล้งข้าวกล้าในนาจะเสียหาย ชาวบ้านจะอดเกลือ
ฟ้าร้องทางทิศตะวันตก ทำนายว่าฝนจะน้อย เกิดความแห้งแล้ง ทำนาไม่ค่อยได้ผล นาในที่ลุ่มดี นาในที่ดอนจะเสียหาย ข้าวยากหมากแพง ชาวบ้านจะเดือดร้อน เกิดเรื่องทะเลาะวิวาท รบราฆ่าฟันกัน
ฟ้าร้องทางทิศตะวันออก ทำนายว่าชาวบ้านจะอยู่ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข ไม่มีการรบราฆ่าฟันกัน ไม่มีโจรผู้ร้าย
หลังจากำฟ้า 1 สัปดาห์ จะไปทำบุญที่วัดอีกครั้งหนึ่งโดยนำดุ้นฟืนที่ติดไฟ 1 ดุ้น ไปทิ้งตามแม่น้ำลำคลองให้ไหลไปตามสายน้ำ เพื่อเป็นการบูชารำลึกถึงเทพยดาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ และเป็นการบอกกล่าวแก่เทวดาผีฟ้าว่าหมดเขตกำฟ้าแล้ว
ปัจจุบันงานกำฟ้าเปลี่ยนแปลงไปมากเพราะบ้านเมืองเจริญขึ้น การทำบุญต่าง ๆ ได้รวบรัดตัดรายละเอียดของพิธีลงไปบ้างปัจจุบันทางชมรมไทยพวนบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี ได้จัดให้ชาวบ้านมาร่วมกันจัดงานทำบุญกำฟ้าที่ศูนย์ศิลปาชีพประชาสุขสันต์ ในตำบลบ้านกล้วย โดยให้แต่ละบ้านทำข้าวจี่มาถวายพระหลังจากตักบาตรเช้าที่วัดใกล้บ้านแล้ว ในช่วงบ่ายก็แข่งขันกีฬาพื้นบ้าน ตอนเย็นจัดให้มีงานสังสรรค์นอกจากนี้บางปีก็ยังมีการเส็งกลอง หรือการแข่งขันตีกลอง ซึ่งเป็นการละเล่นที่หาดูได้ยาก

ประเพณีชักพระศรีอาริย์ วัดไลย์
ประเพณีชักพระศรีอาริย์ หรือแห่พระศรีอาริย์ วัดไลย์ อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี เป็นประเพณีที่ปฏิบัติกันมาช้านาน ซึ่งชาวบ้านเชื่อกันว่าพระศรีอาริย์หรือพระศรีอริยเมตไตรย จะมาตรัสรู้เป็นสัมมาสัมพุธเจ้า ในโลกมนุษย์หลังจากสิ้นสุดศาสนาของพระมหาสมณโคดมแล้วห้าพันปี เพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนา เรียกว่า ศาสนาพระศรีอาริย์ จึงได้มีการสร้างรูปพระศรีอาริย์ขึ้น เพื่อเป็นการเคารพสักการะโดยเชื่อกันว่าจะได้ไปเกิดในยุคศาสนาของพระศรีอาริย์ จะทำให้มีแต่ความร่มเย็นเป็นสุข
ประเพณีชักพระศรีอาริย์ วัดไลย์นี้ แต่เดิมจะจัดในช่วงหน้าน้ำ ซึ่งตรงกับวันแรม 5 ค่ำ เดือน 11 โดยแห่พระทางชลมารค เพราะน้ำจะท่วมท้องทุ่ง การสัญจรไปมาทางเรือสะดวก การแห่พระทางชลมารคจะอัญเชิญรูปพระศรีอาริย์ลงเรือปิกนิก หรือเรียกกันว่าเรือทรง มีเรือพายของคณะกรรมการวัดใช้เชือกลากจูงนำหน้าและมีเรือพายของชาวบ้านจำนวนร้อย ๆ ลำเข้าร่วมขบวนแห่ แต่มีบางพวกจะแข่งเรือยาวบางพวกเล่นเพลงฉ่อยและเพลงเรือ ท้ายขบวนมีเรือเอี้ยมจุ๊นของทางวัดบรรทุกพวกมโหรี ปี่พาทย์ แตรวง บรรเลงให้ความครึกครื้นไปตลอดทาง โดยเรือทุกลำจะตกแต่งอย่างสวยงาม เพื่อโยงเรือทรงผลัดเปลี่ยนกันไปตามลำน้ำบางขามจนถึงวัดมหาสอน ตำบลมหาสอน อำเภอบ้านหมี่ รวมระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร ตลอดทางจะมีการตั้งโรงทานเลี้ยงอาหารและเครื่องดื่มแก่ผู้ร่วมขบวนเป็นระยะ ๆ เมื่อขบวนแห่พระกลับถึงวัด ก็จะเปิดโอกาสให้ประชาชนได้นมัสการ สรงน้ำ ปิดทองพระ ส่วนตอนกลางคืนประชาชนจะนำเรือมาลอยอยู่หน้าวัดเพื่อฟังการเล่นเพลงพื้นเมือง ซึ่งตอบโต้กันสนุกสนาน และในเรือทุกลำจะมีการจุดตะเกียงจนสว่างไสวไปทั่ว สำหรับบนศาลาวัดไลยนั้น จะมีการเทศนาเรื่องตำนานพระศรีอาริย์ ให้ประชาชนฟังไปพร้อม ๆ กัน ปัจจุบันนี้ประเพณีชักพระศรีอาริย์ทางชลมารคได้ล้มเลิกไปแล้ว เนื่องจากได้มีการสร้างเขื่อนเจ้าพระยาที่จังหวัดชัยนาทเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในการเกษตร จึงทำให้นำที่เคยไหลท่วมทุ่งแห้งแล้งลง ประเพณีชักพระศรีอาริย์จึงได้เปลี่ยนมาจัดงานในฤดูแล้ง คือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6
ซึ่งเป็นประเพณีแห่พระทางสถลมารค แต่พิธีต่าง ๆ ยังคงอนุรักษ์แบบแผนเดิมไว้
โดยจัดเป็นขบวนแห่อัญเชิญรูปหล่อพระศรีอาริย์ขึ้นประดิษฐานบนตะเฆ่ชนิดไม่มีล้อ ทำเป็นบุษบกมีหลังคาหรือทำเป็นฉัตรกั้นแล้วใช้เชือกขนาดใหญ่สองเส้นผูกเป็นสองแถว และให้ประชาชนทั้งหลายที่มาร่วมขบวนช่วยกันลากไปตามเส้นทางที่กำหนดไว้ เมื่อถึงเวลาเริ่มพิธีจะจุดพลุ พร้อมตีกลองและระฆังเป็นสัญญาณเริ่มการฉุดลากตะเฆ่ เพื่ออัญเชิญรูปหล่อพระศรีอาริย์แห่ผ่านหมู่บ้านต่าง ๆ ซึ่งตลอดระยะทางจะมีผู้มาตั้งโรงทานเลี้ยงอาหารหลากหลายชนิด มีทั้งข้าวต้ม ข้าวแกง ขนมจีนน้ำยา อาหาร
คาวหวาน นอกจากนี้ยังมีดนตรีหรือการละเล่นต่าง ๆ เมื่อไปถึงสถานที่ซึ่งสุดเส้นทางที่กำหนดไว้แล้วจะให้ประชาชนได้สรงน้ำพระศรีอาริย์ และนมัสการปิดทอง ครั้นได้เวลาอันสมควรแล้วก็จะนำขบวนแห่กลับวัด พอถึงวัดจะอัญเชิญรูปหล่อพระศรีอาริย์ขึ้นประดิษฐานยังวิหารตามเดิม และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้นมัสการปิดทอง ตอนกลางคืนจะมีมหรสพต่าง ๆ เช่น ภาพยนตร์ ลิเก ฯลฯ
ประเพณีขัดพระศรีอาริย์เป็นประเพณีโบราณเก่าแก่ ที่กระทำสืบต่อกันมา ผู้ที่ได้มาร่วมงานจะได้ทั้งกุศล ความสนุกสนานรื่นเริง อีกทั้งยังได้ดูประเพณีที่พยายามรักษากันไว้เพื่อให้คนรุ่นหลังได้พบเห็นและชื่นชมกันต่อไปในวันข้างหน้า

ประเพณีกวนข้าวทิพย์
เป็นประเพณีที่สืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะตรัสรู้ โดยนางสุชาดาธิดาของเศษรฐีหมู่บ้านเสนานิคม ได้นำอาหารซึ่งเป็นข้าวมธุปายาส ไปบรวงสรวงเทพยดาที่ใต้ต้นนิโครธ ในวันเพ็ญขึ้น 14 ค่ำ เดือน 6 นางได้พบพระพุทธองค์ประทับอยู่ใต้ต้นนิโครธ ก็เข้าใจว่าเป็นเทพยดา เมื่อพระพุทธองค์เสวยแล้ว ได้ทรงนำถาดทองที่ใส่ข้าวมธุปายาสนั้นไปลอยน้ำ และทรงอธิษฐานว่า หากพระองค์จะได้ตรัสรู้ขอให้ถาดทองนั้นลอยขึ้นเหนือน้ำ เมื่อพระพุทธองค์ทรงวางถาดลงในน้ำ ปรากฎว่าถาดทองนั้นลอยขึ้นเหนือน้ำดังคำอธิษฐาน พระพุทธองค์ทรงถือว่าภัตตาหารมื้อนั้นได้มีส่วนทำให้พระพุทธองค์ได้สำเร็จและ ตรัสรู้อริยสัจสี่ได้
ประเพณีกวนข้าวทิพย์ หรือข้าวมธุปายาส ในจังหวัดลพบุรีจะมีการกระทำกันอยู่หลายแห่ง เช่น วัดนิคมสามัคคีชัย ตำบลนิคม อำเภอเมืองลพบุรี โดยกระทำกันเป็นประจำทุกปี ในวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 6 และจะนำไปถวายพระในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6
พิธีกวนข้าวทิพย์ จะเริ่มต้นด้วยพิธีพราหมณ์ แล้วจึงตั้งบายศรีบวงสรวงเทพยดา เครื่องประกอบในการตั้งบายศรี มีไตรจีวร 1 ชุด ถาดใส่อาหารมีข้าว ขนมต้มแดง ขนมต้มขาว และผลไม้ จากนั้นพราหมณ์จะสวดชุมนุมเทวดา แล้วจึงเริ่มพิธีกวนข้าวทิพย์ โดยการนำเอาข้าวที่ยังเป็นน้ำนม หมายถึง ข้าวที่เพิ่งออกรวงใหม่ที่เมล็ดยังเป็นแป้งอยู่ นำมาเอาเปลือกออก นอกจากนั้นยังมีนม เนย ถั่ว น้ำอ้อย น้ำตาล น้ำผึ้ง ตลอดจนผลไม้ต่าง ๆ ใส่รวมกันไปแล้วกวนให้สุกจนเหนียว พิธีการกวนข้าวทิพย์ จะต้องใช้สาวพรหมจารีย์นุ่งขาวห่มขาวอย่างน้อย 4 คน เป็นผู้กวน พอถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 พวกทายก ทายิกา จะช่วยกันปั้นข้าวทิพย์เป็นก้อน ๆ ถวายแด่พระภิกษุภายในวัด และจัดแบ่งไปถวายพระภิกษุตามวัดต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้เคียง นอกนั้นที่เหลือจะแจกจ่ายให้แก่ประชาชนที่ไปร่วมทำบุญในวันนั้นเพื่อเป็นการให้ทาน

ประเพณีใส่กระจาด (เส่อกระจาด)
ประเพณีใส่กระจาด ตามภาษาพวนเรียกว่า เส่อกระจาด เป็นประเพณีของชาวไทยพวน มีการกระทำกันในเขตอำเภอบ้านหมี่ และมักจัดขึ้นในงานเทศน์มหาชาติ กำหนดในฤดูกาลออกพรรษา คือวันข้างแรม เดือน 11 เมื่อหมู่บ้านใดกำหนดให้มีเทศน์มหาชาติแล้ว ทางวัดจะส่งหนังสือกัณฑ์เทศน์ไปตามวัดต่าง ๆ เพื่อให้ส่งพระเข้ามาร่วมเทศน์ก่อนวันเทศน์ 1 วัน ซึ่งเรียกว่า วันตั้ง คือวัน “เส่อ(ใส่) กระจาด” นั่นเอง
ก่อนจะถึงวันใส่กระจาดหนึ่งวัน เรียกว่า “วันต้อนสาว” คำว่า “ต้อนสาว” เป็นภาษาท้องถิ่น คือ บ้านไหนจะทำพิธีใส่กระจาด เจ้าของบ้านจะชวนลูกสาวของเพื่อนบ้านที่คุ้นเคยมาช่วยทำขนม ห่อข้าวต้ม ตำข้าวปุ้น (ขนมจีน) และช่วยกันต้อนรับแขกที่จะมาใส่กระจาด เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้หนุ่มสาวที่ชอบพอกันได้พบปะพูดคุยและช่วยเตรียมอาหารสำหรับเลี้ยงแขกตลอดคืน พอรุ่งขึ้นเป็นวันใส่กระจาด ชาวบ้านอื่น ๆ จะนำของ เช่น กล้วย อ้อย ส้ม ธูปเทียน หรือของอื่น ๆ มาใส่กระจาดตามบ้านของคนที่ตนรู้จัก จากนั้นเจ้าของบ้านจะนำอาหารที่เตรียมไว้มาเลี้ยงรับรองแขก เมื่อแขกกินเสร็จแล้วจะบอกลากลับ เจ้าของบ้านจะเอาข้าวต้มมัดฝากไปให้คนที่บ้าน 1 มัด เป็นของฝาก ซึ่งเรียกว่า คืนกระจาด วันให้ของเส่อกระจาดและของคืนกระจาด ตลอดจนการจัดหาอาหารคาวหวานให้รับประทาน นับเป็นความสุขทั้งผู้บริการและผู้รับบริการ แขกที่ไปใส่กระจาดจะต้องกินอาหารของเจ้าของบ้านทุกบ้านอย่างละเล็กละน้อย เพื่อไม่ให้เกิดการน้อยใจและปีต่อไปจะได้ไปตอบแทนกัน
วันรุ่งขึ้นเป็นวันเทศน์มหาชาติ เจ้าของบ้านจะรวบรวมสิ่งของที่เพื่อนบ้านนำมาใส่กระจาด ทำเป็นกัณฑ์เทศน์ไปถวายพระที่วัด โดยถือว่าการทำบุญเทศน์มหาชาตินี้ เป็นการทำบุญครั้งยิ่งใหญ่ประจำปีที่ได้มาร่วมการกุศลกัน

ประเพณีลงข่วง
เป็นประเพณีของชาวไทยพวนที่อยู่ในอำเภอบ้านหมี่ คำว่า “ข่วง” หมายถึงที่โล่งแจ้งซึ่งกว้างพอสมควร พอจะมีที่สำหรับรวมคนได้ประมาณ 20 – 30 คน เพื่อที่จะได้ร่วมกันทำงาน งานที่นำมาทำขณะลงข่วงนั้น ส่วนใหญ่เป็นประเภทเบ็ดเตล็ด เช่น กรอฝ้าย(ทำเส้น) ทอผ้า ปั่นด้าย ตำข้าว ฝัดข้าว กระเทาะเปลือกถั่วลิสง(เตรียมไว้ปลูก)
ประเพณีลงข่วง จะเป็นการนัดหมายเพื่อนบ้านออกมาทำงานพร้อมกันและเป็นการพบปะสังสรรค์ของหนุ่มสาวชาวพวนอีกวิธีหนึ่ง ซึ่งอยู่ในขอบเขตสายตาผู้ใหญ่ ส่วนมากจะมารวมกันเป็น ล้อง ๆ คำว่า “ล้อง” หมายถึง บ้านใกล้เคียงกัน เช่น ล้องบ้านด่าน ล้องบ้านเซิง ล้องบ้านใหญ่ เป็นต้น  ก่อนการลงข่วงจะมีการเก็บหลัว (เศษไม้ใบไม้หรือฟืน) เพื่อนำมาก่อให้เกิดแสงสว่าง
พอตอนเย็นสาวจะเดินเก็บหลัวเพื่อเป็นการบอกให้หนุ่มทราบว่าวันนี้จะมีการลงข่วง โดยเก็บหลัวมากองรวมไว้บริเวณที่จะลงข่วง แล้วขึ้นบ้านประกอบอาหารเพื่อรับประทารอาหารก่อนที่จะมาลงข่วงหลังรับประทารอาหารและอาบน้ำแต่งตัวเสร็จแล้วก็จะช่วยกันก่อกองไฟ และนำงานที่จะทำลงมาจากบ้าน ช่วยกันทำอย่างสนุกสนาน จากนั้นหนุ่ม ๆ ในละแวกบ้านก็จะเดินมาเที่ยวเป็นกลุ่ม ๆ การมาของหนุ่มอาจจะเป่าแคน เป่าขลุ่ย เป่าปาก ร้องเพลง เป็นการให้เสียงล่วงหน้าเพื่อสาว ๆ จะได้เตรียมตัวต้อนรับ โดยนำน้ำดื่มมาวางไว้บริเวณงาน หรืออาจมีขนมหวานมาวางไว้ให้ด้วย หนุ่มที่สนใจสาวคนใดอาจจะแยกเป็นคู่ ๆ และจะมีบางกลุ่มร้องเพลง ร่วมคุยตลกขบขัน เป็นที่น่าสนุกสนานจนถึงเวลาพอสมควร หนุ่มก็จะไปส่งสาวกลับบ้าน แต่ในบางท้องที่การลงข่วงจะทำกันที่บ้านของสาวนั่นเอง