Home

ประวัติลพบุรี


ลพบุรี
เป็นเมืองโบราณที่มีประวัติความเป็นมา ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ คือ มีการขุดพบโครงกระดูกมนุษย์ยุคหินใหม่ อายุ 4,000 – 2,000 ปี ที่บ้านโคกเจริญ และขุดพบโครงกระดูกมนุษย์ยุคสำริด อายุ 2,800 – 2,500 ปี ที่ศูนย์การทหารปืนใหญ่ ชุมชนเหล่านั้นได้เจริญก้าวหน้าเข้าสู่ยุคโลหะ มีอารยธรรม มีวัฒนธรรมการกินอยู่ การแต่งกาย และมีประเพณีการฝังศพของตนเอง   ในสมัยประวัติศาสตร์ พระยากาฬวรรณดิศราช โอรสพระยากากะพัตร แห่งเมืองนครชัยศรี ได้เป็นผู้สร้างเมืองลพบุรี เมื่อปี พ.ศ. 1191 และตั้งชื่อเมืองว่า “ละโว้” หรือภาษาบาลีว่า “ลวะปุระ” ซึ่งตรงกับสมัยทวาราวดี ละโว้ยุคนั้นมีฐานะเป็นศูนย์กลางทางด้านศิลปวัฒนธรรมแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา

นอกจากนี้ ตามพงศาวดารเหนือได้กล่าวไว้ว่า เมื่อปี พ.ศ. 1788 “พ่อขุนรามคำแหง” ราชโอรสแห่งเมืองสุโขทัย ได้เสด็จมาศึกษาเล่าเรียนที่เขาสมอคอน เมืองลพบุรี และหลังจากนั้น ในปี พ.ศ. 1797 “พ่อขุนงำเมือง” ราชโอรสแห่งเมืองพะเยา ได้เสด็จมาศึกษาที่เขาสมอคอนเช่นเดียวกัน เมืองลพบุรีในยุคนั้น จึงเป็นเมืองศูนย์กลางของศิลปวิทยาการที่มีความสำคัญยิ่ง จนกระทั่ง หลังจากยุคสมัยของพระราเมศวร เมืองลพบุรีก็เสื่อมความสำคัญลง จนถึง รัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังที่เมืองลพบุรีไว้เป็นที่ประทับ เมื่อปี พ.ศ. 2209 และเสด็จประทับที่เมืองลพบุรีเป็นเวลานาน 8 - 9 เดือนใน 1 ปี เมืองลพบุรีในสมัยของพระองค์ถือได้ว่าเป็นยุคสมัยที่มีความเจริญถึงขีดสุด ลพบุรีจึงเป็นเสมือนราชธานีแห่งที่ 2 รองจากกรุงศรีอยุธยา

ในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะเมืองลพบุรีขึ้นอีกครั้ง ในปี พ.ศ. 2406 โปรดให้สร้างหมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฏขึ้นเป็นที่ประทับภายในพระราชวังของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย ราวปี พ.ศ. 2480 จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ท่านได้ทำนุบำรุงเมืองลพบุรี โดยพยายามที่จะแยกเมืองลพบุรีออกจากเมืองเก่า ให้ดูสง่างามกว่าเดิม และได้สร้างสิ่งก่อสร้างศิลปะแบบอาร์ตเดโค ขึ้นมากมาย ซึ่งยังปรากฏให้เห็นจนทุกวันนี้

จากการที่ลพบุรีเป็นเมืองสำคัญในอดีตดังที่กล่าว ทำให้ลพบุรีมีโบราณสถาน โบราณวัตถุ ล้ำค่าที่เกี่ยวกับเหตุการณ์หรือยุคสมัยต่างๆ เป็นอันมาก ให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษา ตลอดจนมีตำนานที่เป็นเรื่องเล่าขานสืบต่อกันมาอีกหลายเรื่อง นอกจากนั้นยังได้รับการพัฒนาจนเป็นเมืองที่เจริญก้าวหน้าทั้งในด้านเศรษฐกิจ เกษตรกรรม อุตสาหกรรม การศึกษา และการทหาร ลพบุรีในปัจจุบัน จึงเป็นเมืองหนึ่งหรือจังหวัดหนึ่งในภาคกลางของประเทศ ที่มีความสำคัญควรค่าแก่การศึกษาและทัศนา ทั้งในด้านของภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ โบราณสถาน โบราณวัตถุ สถาปัตยกรรม ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี แหล่งท่องเที่ยว ตลอดจนภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่มีการถ่ายทอดสืบต่อกันมา

คำขวัญประจำจังหวัดลพบุรีที่ว่า “วังนารายณ์คู่บ้าน ศาลพระกาฬคู่เมือง ปรางค์สามยอดลือเลื่อง เมืองแห่งดินสอพอง เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เกริกก้อง แผ่นดินทองสมเด็จพระนารายณ์” ได้สะท้อนให้เห็นสิ่งสำคัญคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดลพบุรี ซึ่งสอดคล้องกับตราประจำจังหวัดลพบุรี ที่เป็นรูป “พระนารายณ์ประทับบนพระปรางค์สามยอด” อันมีความหมายให้ระลึกถึง สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ผู้สร้างเมืองลพบุรีขึ้นใหม่ในปี พ.ศ. 2209 ส่วนพระปรางค์สามยอด ที่ปรากฏในตราประจำจังหวัด เป็นโบราณสถานที่ถือเป็นสัญลักษณ์ของเมืองลพบุรี

ลพบุรีในปัจจุบัน เป็นเมืองที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ มีโบราณสถาน โบราณวัตถุมากมาย เป็นจังหวัดที่มีความสำคัญทั้งทางเศรษฐกิจ เกษตรกรรม อุตสาหกรรม และการทหาร ถึงกับกล่าวกันว่าเป็นเมืองทหาร มีหน่วยทหารที่เป็นกำลังหลักของประเทศ มีกำลังทหารนับแสนคน นอกจากนี้ ลพบุรียังถูกเรียกว่าเป็นเมืองลิง รวมทั้งผู้คนในจังหวัดลพบุรีก็ถูกขนานนามว่าคนเมืองลิง ทั้งนี้ เพราะว่ามีลิงจำนวนมากอยู่กลางใจเมืองของลพบุรี บริเวณศาลพระกาฬ ซึ่งเป็นสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ นักวิชาการแห่งกรุงรัตนโกสินทร์เห็นว่า ลพบุรีมีความหลากหลายทางอารยธรรมที่ปรากฏเด่นชัดบนลุ่มแม่น้ำลพบุรี และลุ่มแม่น้ำป่าสัก ซึ่งช่วยแต่งแต้มสีสันให้ลพบุรีเป็นธานีแห่งอารยธรรม ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรม จนตราบเท่าทุกวันนี้

อาณาเขต ลพบุรีตั้งอยู่ตอนกลางของประเทศไทย ห่างจากกรุงเทพฯ ไปทางทิศเหนือ โดยทางรถยนต์สายพหลโยธิน ประมาณ 153 กิโลเมตร และโดยทางรถไฟสายเหนือ ระยะทางประมาณ 133 กิโลเมตร มีเนื้อที่ 6,586,.67 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยพื้นที่ราบลุ่มประมาณ 30 % และพื้นที่ราบสลับเนินเขาประมาณ 70 % มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดใกล้เคียง ดังนี้

ทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดเพชรบูรณ์และนครสวรรค์
ทิศใต้ ติดต่อกับจังหวัดสระบุรีและพระนครศรีอยุธยา
ทิศตะวันออก ติดต่อกับจังหวัดนครราชสีมาและชัยภูมิ
ทิศตะวันตก ติดต่อกับจังหวัดสิงห์บุรี อ่างทอง และนครสวรรค์

ระยะทางจากจังหวัดไปยังอำเภอต่างๆ

1. อำเภอเมืองลพบุรี ระยะทาง -- กิโลเมตร
2. อำเภอท่าวุ้ง ระยะทาง 15 กิโลเมตร
3. อำเภอบ้านหมี่ ระยะทาง 32 กิโลเมตร
4. อำเภอโคกสำโรง ระยะทาง 35 กิโลเมตร
5. อำเภอพัฒนานิคม ระยะทาง 51 กิโลเมตร
6. อำเภอหนองม่วง ระยะทาง 54 กิโลเมตร
7. อำเภอสระโบสถ์ ระยะทาง 65 กิโลเมตร
8. อำเภอท่าหลวง ระยะทาง 77 กิโลเมตร
9. อำเภอโคกเจริญ ระยะทาง 88 กิโลเมตร
10. อำเภอชัยบาดาล ระยะทาง 97 กิโลเมตร
11. อำเภอลำสนธิ ระยะทาง 120 กิโลเมตร