นาฏศิลป์

    1. โขนพากย์
    2. วิธีการแสดง เริ่มด้วยวงปี่พาทย์บรรเลงเพลงโหมโรง จบเพลงเริ่มแสดงด้วยการจับลิงหัวค่ำ โดยลิงขาวจับลิงดำมาถวายพระฤาษี พระฤาษีอบรมสั่งสอนแล้วปล่อยลิงดำไป จากนั้นมีการรำถวายมือ หรือออกหน้าพาทย์ คือรำหน้าพาทย์เพลงใดเพลงหนึ่งตามที่กำหนด แล้วจึงจะแสดงเป็นเรื่อง

    3. โขนสดวัดโพธิ์เก้าต้น
    4. วิธีการแสดง เริ่มแรกปี่พาทย์จะบรรเลงเพลงโหมโรงแล้วลงลา ต่อจากนั้นจะเป็นการร่ายรำถวายมือหรือรำเบิกโรง 1 ชุด เมื่อรำถวายมือเสร็จปี่พาทย์จะบรรเลงเพลงวา ตัวโขนก็จะออกแสดง เมื่อผู้แสดงนั่งเตียงแล้วจะร้องทำนอง (ใช้โทนตีประกอบแต่ไม่มีชื่อเพลงโดยแบ่งประเภทไว้ 3 อย่างคือ 1. จังหวะช้า ใช้กับตัวพระ นาง 2. จังหวะปานกลาง ใช้กับตัวยักษ์ 3. จังหวะเร็ว ใช้กับตัวลิง) เมื่อร้องจบจึงเจรจาเล่าเรื่องด้วยคำพูดธรรมดา หลังจากนั้นจะร้องทำนองอีกครั้งหนึ่ง แล้วจึงรำหน้าพาทย์ (เช่น เชิด เสมอ ฯลฯ) เพื่อเข้าโรง

    5. ละครรำ
    6. วิธีการแสดง เป็นการแสดงแบบละครนอก คือ บทร้องและทำนองเพลงค่อนข้างรวดเร็ว กระฉับกระเฉง ตัวละครเจรจาเอง ติดตลกขบขัน ผู้แสดงร่ายรำตามบทร้องบทเจรจา

    7. ละครแก้บนศาลพระกาฬ
    8. วิธีการแสดง เริ่มจากวงปี่พาทย์โหมโรงบูชาครู หรือที่เรียกกันว่าลงโรงเพื่อเรียกคนดู จากนั้นจึงออกแขก บอกนำเรื่องให้ผู้ชมทราบโดยร้องอยู่ด้านในโรง แล้วต่อด้วยการรำเบิกโรงหรือรำถวายมือ แล้วจึงเริ่มแสดงตามท้องเรื่อง วิธีแสดง คือ ผู้แสดงจะร่ายรำออกมาจากในฉากแล้วขึ้นนั่งเตียง เริ่มร้องเพลง และรำตามบทเพื่อเป็นการแนะนำตัวว่าเป็นใคร เมื่อปี่พาทย์รับแล้วหยุด จึงเจรจาซ้ำบทร้อง จากนั้นจึงร้องอีกครั้งแล้วรำเข้าเวที ผู้แสดงคนต่อไปก็จะออกมา

    9. ระบำลพบุรี
    10. วิธีการแสดง ระบำชุดนี้มีผู้แสดง 5 คน เป็นตัวเอก 1 คน หมู่ระบำ 4 คน

      หมู่ระบำจะออกมาร่ายรำก่อน จากนั้นตัวเอกจึงจะตามออกมา ท่ารำของตัวเอกและหมู่ระบำจะประสานกันทั้งในด้านนาฏลีลาและจังหวะ

    11. ระบำดินสอพอง
    12. วิธีการแสดง ผู้แสดงจะออกมาร่ายรำแสดงกรรมวิธีของการทำดินสอพองตามขั้นตอน เริ่มตั้งแต่การขุดดิน ตักดิน ล้างดิน หยอดดิน ด้วยท่าทางที่สนุกสนาน ผสมผสานไปกับท่วงทำนองของเพลงที่ไพเราะสนุกสนาน

    13. ระบำนวดข้าว
    14. วิธีการแสดง ผู้แสดงออกมาแสดงท่าร่ายรำตามขั้นตอนของการนวดข้าว คือท่ารำจะเริ่มต้นตั้งแต่ การยาลาน การล้อมข้าว การตัดคะเน็ดข้าว การนวดข้าว การสงฟาง การสงขี้ลำพวน การชักกระดาน จบลงด้วยการสาดข้าว เพื่อทำความสะอาด ลีลาท่ารำได้มีการปรับปรุงให้สวยงาม ใกล้เคียงกับท่าทางธรรมชาติตามความเป็นจริงของชีวิตในท้องทุ่ง ให้เข้ากับจังหวะและท่วงทำนองที่สนุกสนานเร้าใจ

    15. ระบำนบนารายณ์
    16. วิธีการแสดง ถือโคมไฟ ออกมาร่ายรำด้วยลีลาที่อ่อนช้อยสวยงามตามท่วงทำนองเพลงและจังหวะที่ไพเราะอ่อนหวาน

    17. ระบำลวปุระ
    18. วิธีการแสดง แบ่งผู้แสดงออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 ออกมาร่ายรำก่อน 4 คน และกลุ่มที่ 2 ออกมาร่ายรำสมทบภายหลังด้วยท่วงท่า และลีลาท่ารำที่สง่างาม

    19. ระบำปรีดิ์เปรมวานร

วิธีการแสดง แสดงท่าทางเลียนแบบท่าธรรมชาติของลิงตามจังหวะดนตรีและความสามารถของผู้แสดงโดยสอดแทรกมุขตลกต่าง ๆ โดยใช้วงปี่พาทย์ไม้แข็งเครื่องห้า หรือเครื่องคู่ ทั้งนี้แล้วแต่โอกาสและความเหมาะสมของการแสดง แต่เพิ่มเครื่องกำกับจังหวะ คือ เกราะ เพื่อใช้เคาะให้เกิดความชัดเจนช่วยให้ทำนองมีความสนุกสนานเร้าใจ