การละเล่นพื้นบ้าน

การละเล่นพื้นบ้าน เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งที่เป็นแบบอย่างเฉพาะท้องถิ่นมีมาแต่อดีตและสืบทอดมาถึงปัจจุบัน ก่อให้เกิดทักษะ ความสนุกสนานเพลิดเพลิน ทำให้ร่างกายแข็งแรง หรือเพื่อผ่อนคลายความเคร่งเครียดทางจิตใจทั้งผู้เล่นและผู้ชม สิ่งสำคัญคือเป็นการอนุรักษ์การละเล่นพื้นบ้านของไทยไว้ให้ดำรงสืบไป

    1. ขาสูง หรือการเดินไม้โทงเทง (ชาวไทยพวนเรียก ขาโถกเถก)
    2. วิธีเล่น ผู้เล่นจะใช้มือจับท่อนไม้ไว้ให้แน่น ใช้เท้าข้างใดข้างหนึ่งเหยียบบนไม้รองเท้า แล้วค่อย ๆ พยุงตัวขึ้นไปเหยียบอีกข้างหนึ่ง ใช้นิ้วเท้าช่วยคีบไม้ให้ทรงตัวได้มั่นคง

    3. ขี่ม้าส่งเมืองหรือเทวดานั่งเมือง
    4. วิธีเล่น เลือกผู้เล่นเป็นเจ้าเมืองหรือเทวดาตัวหนึ่ง ซึ่งต้องไม่เข้ากับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แล้วแบ่งผู้เล่นที่เหลือเป็น 2 ฝ่าย แต่ละฝ่ายจะเสี่ยงทายโดยจับไม้สั้นไม้ยาวถ้าใครชนะจะเป็นฝ่ายเล่นก่อน โดยเดินมากระซิบบอกชื่อคนเล่น สัตว์ ต้นไม้ หรือ ดอกไม้ ตามแต่จะกำหนดกัน แล้วให้อีกฝ่ายมากระซิบตอบ หากตอบผิด เจ้าเมืองจะบอกว่าโป้ง แล้วให้คนนั้นตกเป็นเชลยของฝ่ายถาม แต่ถ้าหากตอบถูกฝ่ายถามต้องตกเป็นเชลยของฝ่ายตอบ แล้วผลัดเปลี่ยนกันฝ่ายใดคนหมดก่อน (ตกเป็นเชลยของฝ่ายตรงข้าม) จะต้องให้ฝ่ายชนะขี่หลังพาไปส่งเมือง (สถานที่ที่กำหนดให้เป็นเมือง)

    5. เดินกะลา (ชาวไทยพวนเรียก เดินกะโป้ว)
    6. วิธีเล่น ผู้เล่นจะยืนบนกะลา ใช้นิ้วเท้าคีบเชือกเหมือนกับใส่รองเท้าทั้งสองข้าง ดึงเชือกให้ตึง เมื่อได้สัญญาณ ทุกคนจะรีบเดินไปถึงเส้นชัย ใครถึงก่อนถือว่าเป็นผู้ชนะ คนที่ถึงทีหลัง หรือตกจากกะลา ถือว่าแพ้

    7. เสือกินวัว
    8. วิธีเล่น เลือกผู้เล่นเป็นเสือคนหนึ่ง เป็นวัวคนหนึ่ง ที่เหลือจะจับมือยืนต่อกันเป็นวงกลม ห่างกันพอสมควรหันหน้าเข้าหากันสมมุติเป็นคอก ให้วัวอยู่ในคอกเสือจะพยายามเข้าคอก คนที่เป็นคอกต้องคอยกันเสือไว้อย่างเหนียวแน่น หากเสือสามารถเข้าคอกได้ คอกจะต้องเปิดให้วัวออก และล้อมเสือเอาไว้ เสือต้องพยายามออกจากคอกให้ได้ เมื่อเสือจับวัวได้เป็นอันจบเกม

    9. ลูกหึ่ม (ไม้หึ่ม)
    10. วิธีเล่น ผู้ที่เป็นคนตีลูกหึ่ม 1 คน ที่เหลือทั้งหมดเป็นคนคอยรับลูก หึ่ม พวกที่คอยรับลูกหึ่ม อาจใช้ผ้าขาวม้าคอยรับก็ได้เพราะผู้ชายในสมัยก่อนนิยมใช้ผ้าขาวม้าคาดเอว ส่วนผู้หญิงอาจใช้ผ้าสไบรับก็ได้ เพื่อป้องกันมิให้ลูกหึ่มถูกหน้าตา เพราะอาจได้รับบาดเจ็บได้

      เมื่อผู้ใดรับลูกหึ่มได้ ผู้นั้นจะต้องหึ่ม (คือ กลั้นลมหายใจ แล้วออกเสียงหึ่มในลำคอ) ไปยังเขตที่ทุกคนกำหนดร่วมกันว่าจะให้เขตกว้างหรือไกลแค่ไหน ขณะหึ่มต้องวิ่งไว ๆ เพราะจะแกล้งบอกไม่ให้หายใจแรง ถ้าหึ่มไม่ดัง พวก ๆ อาจแกล้งให้เขตไกลออกไปอีกก็ได้ ผู้ที่ถูกหึ่มก็จะมาเป็นผู้ตีลูกหึ่มแทน ทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ

    11. การเล่นนางกวัก
    12. การเล่นนางกวัก เป็นความเชื่ออย่างหนึ่งของชาวไทยพวนแต่โบราณในเรื่องภูติ วิญญาณที่นำมาเล่นกัน เพื่อจะได้ติดต่อกับวิญญาณของผู้ที่ตายไปแล้ว เพื่อไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบ และเรื่องราวต่าง ๆ ของผู้ตายว่า มีความเป็นอยู่อย่างไร ต้องการอะไรบ้าง เพื่อทางญาติพี่น้องที่ยังมีชีวิตอยู่จะได้ทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ ดวงวิญญาณจะได้สงบสุข มีความเป็นอยู่ในภพที่ดีแต่บางคนก็ถามเรื่องโชคลาภ วาสนา เนื้อคู่ คล้ายกับการดูหมอ ซึ่งจะทำให้ผู้ถามเกิดความกระจ่างความสบายใจในสิ่งที่เป็นกังวลใจ

      วิธีเล่น นำอุปกรณ์ที่เตรียมไว้ประกอบกันเป็นตัวนางกวัก โดยใช้เชือกผูกส่วนหัวและตัวติดกัน นำกวักมาทำเป็นส่วนลำตัว นำกะลามะพร้าวมาผูกให้เป็นหัว นำไม้คานมาผูกทำเป็นส่วนแขน นำเสื้อผ้ามาตกแต่งตัวกวักให้เหมือนกับหุ่นไล่กา เตรียมทรายใส่กระด้งเอาไว้สำหรับเขียนหนังสือ และทำพิธีอัญเชิญวิญญาณเข้าสิงกวัก โดยให้ผู้หญิงที่ถือกวัก 2 คน ยกกวักไว้ นำดอกไม้ธูปเทียนไปอัญเชิญ โดยมีตัวแทนของผู้เล่นที่มีอาวุโส (ผู้สูงอายุ) เป็นผู้อัญเชิญทำพิธีขอขมาลาโทษต่อเจ้าที่เจ้าทาง และผีทางหลวงเสียก่อน ก่อนที่จะเล่น ส่วนผู้เล่นคนอื่น ๆ หรือผู้ดูจะนั่งล้อมวงกันอยู่เป็นรอบ ๆ กระด้งที่มีทรายใส่ไว้จนเต็มปาดหน้าให้เรียบ ผู้ที่นั่งล้อมวงอยู่ก็จะช่วยกันกล่าวคำร้อง เชิญดวงวิญญาณเข้าทรงกวัก ดังนี้

      นางกวักเอย นางกวักทักแท่ เห่เจ้าแหญ่ อี่แม่แญญอง หาคนญาคนญอง เห้อสูงเพียงช้าง เจ้าอย่าอ้างต่างหู เดือนหงาย สานลิงสานลาย เดือนหงายเดือนแจ้ง เจ็าอย่างแอ้ง อีแท่นางกวัก กวักเจ้ากวัก นางกวักทักแท่

      การร้องเชิญดวงวิญญาณเข้าทรงกวัก จะร้องซ้ำไปเรื่อย ๆ จนกว่าวิญญาณจะเข้าสิงกวัก เมื่อเข้าสิงกวักจะรู้ได้ โดยให้สังเกตจากกวักที่คนทรงถือ คือกวักจะเริ่มสั่นไหว แล้วก็ดิ้นกระโดดโถมไปโถมมา ทางซ้าย ทางขวา ตามจังหวะเสียงร้องของ คำเชิญ ถ้ากวักเคลื่อนไหวลักษณะดังกล่าว แสดงว่าวิญญาณกวักเข้าทรงแล้ว คนทรงหรือคนถือก็จะนำกวักมานั่งลงใกล้ ๆ กับกระด้งที่เตรียมไว้ ขณะที่นำนางกวักมานั้น กวักจะสั่นไหวอยู่ตลอดเวลา ผู้เล่นโดยเฉพาะหนุ่ม ๆ สาว ๆ ก็จะเริ่มตั้งคำถามต่าง ๆ ที่อยากรู้ ลักษณะจะคล้าย ๆ กับการทำนายทายทักแบบหมอดู แต่การเล่นกวักจะใช้วิธีตอบคำถาม โดยเขียนเป็นตัวหนังสือโต้ตอบ เมื่อผู้ถาม ๆ จบ กวักก็จะตอบโดยการใช้แขนที่ทำด้วยไม้คาน เขียนเป็นหนังสือลงบนทรายที่กระด้ง คนถามก็จะได้คำตอบทันที แต่การเขียนตอบจะเขียนไม่ยาว เป็นเพียงข้อความสั้น ๆ เช่น ใช่ ไม่ใช่ ได้ ไม่ได้ ดี ไม่ดี ฯลฯ

      การถามคำถามนั้น จะสลับไปกับการร้องเพลงประกอบ ขณะที่มีการร้องเพลงเคาะจังหวะ นางกวักก็จะเต้นล้มตัวไปด้านซ้าย ด้านขวาตลอดเวลาตามจังหวะด้วย ซึ่งเป็นที่สนุกสนานทั้งนางกวักและผู้เล่น จนเป็นที่พอใจทั้งสองฝ่าย เมื่อหมดคำถามที่จะถามแล้วก็จะเชิญวิญญาณที่เข้าสิงนางกวักออก โดยทำพิธีส่งตรงจุดที่เชิญวิญญาณมาเข้าทรง พอวิญญาณออกกวักที่ถืออยู่ก็จะมีอาการสงบนิ่งไม่เคลื่อนไหว

    13. การเล่นนางด้ง
    14. วิธีเล่น ขณะที่ทำพิธีเชิญวิญญาณ ก็จะให้ผู้ที่เข้าทรงถือกระด้งเอาไว้แล้วผู้ดูยืนอยู่รอบ ๆ จะช่วยกันร้องเพลงเชิญ พอวิญญาณเริ่มเข้าทรง ผู้ทรงก็จะลืมตาบ้างหลับตาบ้าง พร้อมกับร่ายรำโยกตัวไปมา แต่มือก็ยังคงถือกระด้งอยู่ เป็นลีลาการรำที่สวยงามตามจังหวะและเสียงเพลงเซิ้ง จนเห็นว่าเป็นเวลาพอสมควร ก็เชิญนางด้งออกจากร่างคนทรง แต่การเล่นนางด้งไม่ค่อยนิยมเล่นเหมือนนางกวักเพราะพูดถามได้เหมือนการเข้าทรงดูหมอ จึงนิยมเล่นนางกวักมากกว่า

    15. การเล่นนางตาล
    16. วิธีเล่น นิยมเล่นกันในตอนกลางคืน กลางวันเล่นไม่ได้ โดยนำใบตาลมาวางที่พื้นดิน ใช้ครกคว่ำทับ ผู้ที่จะเข้าทรงผีนางตาลไปนั่งบนก้นครก พนมมือไว้ คนอื่น ๆ จะร้องเพลงไปจนกว่าผีจะเข้าทรง โดยสังเกตจากมือที่พนมสั่นแล้วนั่งเฉย เพื่อนจะไปกระซิบที่ข้างหูว่า มาจากไหน ชอบเพลงอะไร แล้วจะช่วยกันร้องเพลง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเพลงร่อน หรือเพลงแถ คนที่ทรงผีจะลุกขึ้นรำ พอเพลงจบก็จะนั่งลง คนอื่น ๆ จะเข้าไปถามและร้องเพลงให้รำอีก เมื่อเห็นว่าคนทรงผีเหนื่อยมากแล้วก็จะไป กระโต็ก ดัง ๆ ที่ข้างหู จนกว่าผีจะออก และจะถามหรือเรียกชื่อ เมื่อรู้สึกตัวก็จะเลิกเล่นหรือจะสับเปลี่ยนให้คนอื่นมาทรงผีเล่นกันตลอดคืนก็ได้

    17. การเล่นผีทะนาน
    18. วิธีเล่น ให้ผู้หญิงที่จะเรียกผีไปเรียกผีที่ทางสามแพร่ง เรียกให้เข้ามาในลานบ้าน หนุ่มสาวจะล้อมวงตั้งทะนานลงบนกระด้งที่ใส่ข้าวเปลือก คนเรียกผีจะไปนั่งยอง ๆ บนทะนาน มือจับขอบกระด้งไว้ สักครู่ทะนานจะหมุน คนจะหมุนตามไปด้วย แต่คนจะหมุนไม่ทันแล้วล้มลง เมื่อล้มไปทางทิศใด ก็แสดงว่าเนื้อคู่อยู่ทางทิศนั้น หนุ่ม ๆ ที่นั่งล้อมวงอยู่ก็จะหยอกล้อกันว่าเป็นเนื้อคู่กัน เพราะหนุ่มที่เข้าไปเที่ยวบ้านสาวนั้นต้องชอบพอกับสาวกลุ่มนั้นอยู่แล้ว จึงจะเข้าไป

    19. การละเล่นผีนางกวัก
    20. วิธีเล่น ผู้หญิง 2 คน จะแต่งสุ่มปลาใส่เสื้อแล้วสวมไม้คาน นำออกไปเรียกผีที่นอกบ้าน บริเวณลานบ้านจะเตรียมกระด้งใส่ข้าวเปลือกหรือทรายไว้ เมื่อผีเข้าสุ่มหรือกวักแล้วจะนำเข้ามาตั้งข้าง ๆ กระด้ง คนที่ล้อมวงเข้ามาจะตั้งคำถามให้ผีนางกวักทำนายทายทัก เช่น ปีนี้น้ำจะดีไหม ข้าวปลาจะบริบูรณ์ดีไหม หรืออาจจะถามเรื่องส่วนตัว เรื่องเนื้อคู่ เป็นต้น กวักจะทำนายโดยการเขียนบอกบนข้าวเปลือก หรือบนทราย เป็นการละเล่นในยามว่าง และคำทำนายจะช่วยสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ชาวบ้านในการประกอบอาชีพ และการดำรงชีพได้ทางหนึ่ง

    21. การละเล่นผีปุ้งกี๋
    22. วิธีเล่น ให้คนที่จะทรงผีนั่งบนไม้ไผ่เอาปุ้งกี๋ครอบศีรษะ แล้วเอาผ้าคลุมทับ ร้องเพลงเชิญผีให้มาเข้าสิงสู่ในร่างคนทรงที่ต้องเป็นสาวโสด เมื่อเข้าทรงแล้วจะจำใครไม่ได้เลย หากมีใครไปล้อเลียน จะไล่ฟาดทันที

      คนทรงผีปุ้งกี๋นี้จะเข้าใต้ถุนบ้านใครไม่ได้ ถ้าเข้าไปผีจะออกทันที ฉะนั้นคนที่ผีไล่มักจะวิ่งเข้าใต้ถุนบ้าน และเวลาจะเอาผีออกจากร่างคนทรงผี หรือเวลาจะเลิกเล่นก็จะช่วยกันจับคนทรงผีเข้าใต้ถุน

    23. เพลงเกี่ยวข้าว
    24. วิธีเล่น การร้องเพลงเกี่ยวข้าวนั้น มี 2 แบบ แบบหนึ่งร้องตอนที่กำลังเกี่ยวข้าว อีกแบบหนึ่ง ร้องเมื่อตกคันนาหรือหยุดพักเกี่ยวข้าว ต้องตั้งวงหรือตั้งแถวเล่นร้องไปรำไป มีลูกคู่รับ เฮ้…เฮะ หรือ เฮ้…เอ้า…เฮ้ เฮ้ เนื้อร้องจะเป็นการไต่ถามสารทุกข์สุกดิบ การทำไร่ทำนา และเกี้ยวพาราสี ร้องยั่วเย้า ไม่มีปรบมือเพราะกำลังเกี่ยวข้าว

    25. เพลงฉ่อย
    26. วิธีเล่น การเล่นเพลงฉ่อยนั้นได้รับความนิยมกันมากในหมู่ชาวบ้าน เพราะเล่นได้ถึงอกถึงใจดี เริ่มด้วยบทไหว้ครูหรือเกริ่น ต่อไปก็ว่าแก้กันเรียกว่าประ ใช้ถ้อยคำผูกเป็นเรื่องสมมุติขึ้น มีตอนสู่ขอ ลักหา พาหนี ชิงชู้ สู่ขอ ตีหมากผัว ฯลฯ ไปตามลำดับ เช่นเดียวกับเพลงปฏิพากย์อื่น ๆ หรืออาจนำเรื่องราวในวรรณคดีมาเล่นกัน เรียกว่า เพลงทรงเครื่อง เมื่อเลิกเล่นจะร้องเพราะลา หรือเพลงอวยพร หลังจากนั้นพ่อเพลงแม่เพลงต่างยกมือขอสมาลาโทษ หากว่าเพลงพลาดพลั้งล่วงเกินกันไป
      เพลงฉ่อยนั้น นิยมแต่งโดยใช้กลอนหัวเดียว คือ คำที่มีสระเดียวกัน เช่น คำสุดท้ายของวรรคหลังทุกวรรคจะต้องลงด้วยสระไอ หรือสระอา ซึ่งจะไม่ถือว่าเป็นเสียงสั้น หรือเสียงยาว เช่น ใช้ไอ กับ อาย ใช้อัน กับ อาน ก็ได้

    27. เพลงชักกระดานข้าว
    28. วิธีเล่น จะมีการเล่นอยู่ 2 ช่วง คือ

      ร้องในขณะที่เข้าแถวจับเชือกเตรียมที่จะดึงหรือชักกระดานข้าว พ่อเพลงจะร้องเกี้ยวพาราสี ฝ่ายหญิงที่อยู่ในที่นั้น ลูกคู่รับจบแล้ว ฝ่ายที่ถูกร้องเกี้ยวจะร้องแก้ เมื่อจบตอนจะมีการโห่เฮ้ว แล้วช่วยกันดึงเชือกชักกระดาน จนข้าวรวมกองเรียบร้อย

      ร้องก่อนหรือหลังการชักกระดานข้าว เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียด ความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าและสร้างความสนุกสนาน

    29. เพลงเรือ
    30. วิธีเล่น ลักษณะเพลงเรือเป็นเพลงที่มีท่วงทำนองไพเราะ ร้องง่าย จังหวะเนิบช้า จะใช้กลอนลงสระเดียวกันไปเรื่อย ที่นิยมก็มีกลอนลา กลอนไล เพราะหาคำลงได้สะดวก การสัมผัสสามบทสุดท้ายต้องให้สัมผัสเชื่อมโยงกัน มีคำรับว่า ฮ้าไฮ้ มีเครื่องประกอบจังหวะคือ กรับ และฉิ่ง เวลาเล่นจะต้องลงเรือเล่น

    31. รำโทน
    32. วิธีเล่น เป็นการแสดงพื้นบ้านที่ไม่มีแบบแผน เป็นเพียงการร้องประกอบท่ารำเท่านั้นเนื้อร้องสั้นและง่ายต่อการจดจำ เนื้อหาของบทร้องมีความหมายในด้านวัฒนธรรม ชีวิต ความเป็นอยู่ วรรณคดี วรรณกรรมของท้องถิ่น การสงคราม และบทเกี้ยวพาราสี เป็นต้น

    33. ลำพวน
    34. วิธีเล่น เริ่มด้วยหมอแคนเป่าแคนนำ ขึ้นครู แล้วจึงว่าบทร้องโต้ตอบกันด้วยกลอนสด และใช้บทที่ท่องจำกันมาเป็นนิทานพื้นบ้านต่าง ๆ ขณะที่ลำพวน (ร้อง) แคนจะเป่าคลอไปตลอด การร้องจะต้องขึ้นต้นด้วยคำว่า “โอน้อ” ทุกครั้ง

    35. หุ่นกระบอก

วิธีการแสดง เริ่มต้นปี่พาทย์โหมโรงไปจนจบ เมื่อได้เวลาแสดงปี่พาทย์จะบรรเลงเพลงวา เพลงเสมอ ผู้เชิดจะเชิดหุ่นตัวนายโรงออกมาเบิกโรง แล้วร้องเพลงช้าปี่จะเข้หางยาว 2 ชั้น (ตัวนายโรงเข้า) ปี่พาทย์บรรเลงเพลงรัวสามลา ฤาษีออกรำหน้าพาทย์ตามกระบวนท่าแล้วเข้าโรง ต่อจากนั้นตัวตลกจะออกมาทักทายสวัสดีผู้ชมเจรจาติดตลกแนะนำเรื่องที่จะแสดงในคืนนั้น หลังจากที่ตัวตลกเจรจาเสร็จแล้วจะเข้าโรง แล้วเริ่มการแสดงทันที ทั้งนี้ผู้เชิดหุ่นจะต้องเชิด ร้อง และเจรจาเองทั้งหมด